Monday, May 12, 2014

เตือนภัยแอร์! สะสมเชื้อแบคทีเรีย ก่อโรค “ลิเจียนแนร์-ไข้ปอน”

กรมอนามัยเตือนภัยแอร์! ชี้ความชื้นในเครื่องเป็นตัวก่อเชื้อโรค เสี่ยงหายใจรับเชื้อจนเป็นโรคลิเจียนแนร์ และไข้ปอน แนะทำความสะอาดเป็นประจำ สกัดฝุ่น เชื้อโรคสะสม

นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า เครื่องปรับอากาศหรือแอร์ที่ใช้เพื่อคลายร้อน ทั้งที่ทำงาน บ้าน โรงแรม หรือห้างสรรพสินค้า เป็นต้น อาจแฝงไปด้วยภัยร้าย เพราะในแอร์มีความชื้น ทำให้ภายในตัวแอร์และท่อแอร์เป็นที่เจริญเติบโตของเชื้อโรค ทั้งแบคทีเรีย ไวรัส หรือเชื้อรา โดยเฉพาะแบคทีเรีย “ลิจิโอเนลลานิวโมฟิวลา” หากหายใจเอาฝอยละอองน้ำที่มีเชื้อนี้ปนเปื้อนเข้าไปจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ โดยลักษณะอาการมี 2 แบบคือ แบบปอดอักเสบรุนแรง มีไข้สูง ไอ หนาวสั่น เรียกว่าโรคลิเจียนแนร์ และแบบคล้ายไข้หวัดใหญ่ เรียกว่าไข้ปอน ตีแอก หรือปอนเตียก

       
       นพ.พรเทพ กล่าวอีกว่า แอร์แบบระบบรวมควรเปิดน้ำทิ้งจากหอหล่อเย็นให้แห้ง เมื่อไม่ได้ใช้ควรทำความสะอาดขัดถูคราบไคลตะกอน เติมน้ำยาฆ่าเชื้อโรคในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อฆ่าเชื้อรา และทำความสะอาดหอหล่อเย็นอย่างน้อย 1-2 ครั้งต่อเดือน ไม่ให้มีตะไคร่เกาะ ทำลายเชื้อโดยใส่คลอรีนให้มีความเข้มข้น 10ppm เข้าท่อที่ไปหอผึ่งเย็นให้ทั่วถึง ทั้งระบบไม่น้อยกว่า 3-6 ชั่วโมง หลังจากนั้นรักษาระดับคลอรีนให้ความเข้มข้นไม่น้อยกว่า 0.2ppm และแอร์ในห้องพัก ต้องทำความสะอาดถาดรองน้ำที่หยดจากท่อคอยส์เย็นทุก 1-2 สัปดาห์ ไม่ให้มีตะไคร่เกาะหรือใส่น้ำยาฆ่า เชื้อโรคที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของคน ตามมาตรฐานประกาศกรมอนามัย เรื่อง ข้อปฏิบัติการควบคุมเชื้อลิจิโอเนลลาในหอผึ่งของอาคารในประเทศไทย
       
       นพ.พรเทพ กล่าวด้วยว่า สำหรับแอร์ที่ใช้ตามบ้านเรือน เมื่อเปิดแอร์ควรสังเกตว่าอากาศที่ออกมาจากแอร์มีกลิ่นเหม็นหรือมีกลิ่นอับหรือไม่ หากมีกลิ่นในเบื้องต้น ควรล้างทำความสะอาดแผ่นกรองอากาศที่อยู่ในแอร์ด้วยน้ำสบู่หรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรค หากล้างทำความสะอาดแล้วกลิ่นไม่หาย ควรเรียกช่างเพื่อทำความสะอาดแบบเต็มระบบ
       
       “การล้างทำความสะอาดแอร์ควรทำเป็นประจำ โดยดูตามความเหมาะสมจากสภาพแวดล้อม และการใช้งาน หากเป็นแผ่นกรองอากาศควรล้างด้วยน้ำสบู่หรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรคแล้วใช้น้ำฉีดแรงๆ ที่ด้านหลัง ด้านที่ไม่ได้รับฝุ่น ให้ฝุ่นและสิ่งสกปรกหลุดออกอย่างน้อยเดือนละครั้ง และควรล้างแอร์แบบเต็มระบบอย่างน้อยปีละ 1 ครั้งเช่นเดียวกัน แต่หากใช้เป็นประจำทุกวัน ควรล้างทำความสะอาดประมาณ 6 เดือนต่อครั้ง เพราะนอกจากจะช่วยลดเชื้อโรคที่อาจสะสมอยู่ในแอร์แล้ว ยังช่วยประหยัดพลังงานไฟฟ้าได้อีกด้วย” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

ข่าวจาก http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9570000048624