Wednesday, August 27, 2014

ยาตีกัน. อันตราย, การแพ้ยาและผลข้างเคียงของยา คืออะไร

ญาติคนหนึ่งของผู้เขียนอายุ 70 กว่าปี เป็นเบาหวาน ปรับเปลี่ยนทานยามาหลายอย่าง เนื่องจากอายุมากจึงมีปัญหาข้อเข่าเสื่อมและปวดมาก จึงต้องทานยาแก้ปวดกลุ่ม Nsaidsด้วย ซึ่งยาแก้ปวดกลุ่มนี้จะไปเพิ่มฤทธิ์ของยาลดน้ำตาลในเลือดบางชนิด ซึ่งอาจทำให้ร่างกายมีน้ำตาลต่ำมาก เมื่อเดือนก่อนได้ข่าวว่าเป็นลมต้องเข้าร.พ.พบว่า น้ำตาลต่ำ ตอนแรกสันนิษฐานว่า ทานยาเบาหวานเยอะเกิน อาจทานยาซำ้กัน ยังไม่ได้นึกถึงยา NSaids ว่ามีdrug interaction กับยาเบาหวาน ตอนนี้ได้ซื้อเครื่องเจาะเลือดเพื่อเช็คน้ำตาลด้วยตัวเอง จะได้ระวัง เวลาที่ค่าน้ำตาลที่วัดได้ต่ำมาก
-------------------------------------------------------------
คำถาม ยาตีกัน หรือ drug interaction คืออะไร ส่งผลต่อสุขภาพอย่างไร?ยิ่งใช้ยามากชนิด ก็จะยิ่งเพิ่มยาตีกัน
ทุกวันนี้มียาให้เลือกใช้มากกว่าในอดีตเป็นอันมาก ชนิดของยานับวันจะมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้มีทางเลือกให้แพทย์ได้สั่งจ่ายยาที่มีความเฉพาะเจาะจงและเหมาะสมกับผู้ป่วยมากขึ้น ทั้งยังครอบคลุมการรักษาโรคให้กว้างยิ่งขึ้น
ท่ามกลางการค้นพบยาใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น ในขณะเดียวกันผู้ป่วยก็มีโอกาสใช้ยาจำนวนมากขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อรัง ยิ่งถ้าผู้ป่วยเป็นหลายโรค ก็ต้องใช้ยามากชนิดขึ้นตามอาการของโรคที่เป็น ทำให้มีแนวโน้มว่าคนจะมีการใช้ยากันมากขึ้น
การที่ต้องใช้ยาหลายชนิดในคราวเดียวกัน เพื่อรักษาโรคที่เป็นปัญหาอยู่นั้น อาจจะส่งผลให้ยาที่ใช้อยู่นั้นเกิด ผลต่อกันได้ซึ่งอาจจะเป็นคุณหรือโทษต่อผู้ใช้ยาก็ได้ และเราเรียกผลของยาชนิดที่หนึ่งที่ไปส่งผลต่อยาอีกชนิดหนึ่งนี้ว่า ยาตีกัน
คำว่า ยาตีกันมาจากภาษาอังกฤษว่า drug interaction ซึ่งถ้าแปลตรงตัวจะได้ความว่า ปฏิกิริยาระหว่างยา ในที่นี้ขอเรียกให้เข้าใจตรงกันง่ายๆ ว่า ยาตีกัน

ยาตีกัน มีทั้งคุณและโทษ
เมื่อใช้ยาหลายชนิดร่วมกัน ก็อาจส่งผลกระทบต่อกัน หรือยาตีกัน ซึ่งจะส่งผลบวกหรือลบต่อสุขภาพร่างกายได้ โดยด้านบวกหรือคุณ ก็จะช่วยเพิ่มคุณประโยชน์ของยา ช่วยให้ลดขนาดของยาที่ใช้ลงได้ หรือเมื่อเกิดยาตีกันแล้วทำให้ได้ผลการรักษาดีขึ้น
ขอยกตัวอย่างเช่น การใช้ยาเพนิซิลลิน (ยาปฏิชีวนะ) ร่วมกับยาโพรเบเนซิด (ยารักษาโรคเกาต์) จะเกิด ยาตีกันขึ้น และทำให้ยาเพนิซิลลินถูกขับออกจากร่างกายได้ช้าลง เป็นผลให้ระดับยาเพนิซิลลินสูงขึ้นและอยู่ในร่างกายได้นาน เสมือนกับมีการยืดระยะเวลาการออกฤทธิ์ของยาให้นานยิ่งขึ้น ทำให้ไม่ต้องให้ยาในขนาดที่สูงๆ และ/หรือไม่ต้องให้ยาบ่อยๆ เป็นการเพิ่มความสะดวกในการใช้ยา และลดค่าใช้จ่ายของยา พร้อมกับคงประสิทธิภาพของยาได้เหมือนเดิมอีกด้วย

ยาตีกันมักจะทำให้เกิดโทษมากกว่า
แต่ในทางตรงกันข้าม ยาตีกันชนิดที่ทำให้เกิดโทษ ซึ่งเป็นปัญหาจากการใช้ยาหลายชนิดร่วมกัน เป็นปัญหาที่พบบ่อย ก่อให้เกิดความสูญเสีย และเป็นอันตรายต่อผู้ใช้เป็นอันมาก ฉบับนี้ขอยกตัวอย่างยาตีกันที่พบบ่อยและทำให้เกิดโทษหรืออันตรายต่อผู้ใช้ยา ดังนี้
๑. การใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด ร่วมกับยาอะม็อกซีซิลลิน อาจทำให้ตั้งครรภ์ได้
๒. การใช้ยาลดไขมันในเลือด กลุ่มสแตตินกับยาอีริโทรไมซิน อาจพาลให้ไตวาย
๓. การใช้ยาลดน้ำตาลในเลือด ในโรคเบาหวานกับยาแก้ปวดข้อกลุ่มเอ็นเสด ทำให้ช็อกได้

ยาเม็ดคุมกำเนิด + ยาอะม็อกซีซิลลิน
การใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดร่วมกับยาอะม็อกซีซิลลิน อาจทำให้ตั้งครรภ์ได้
ตัวอย่างที่ ๑ นี้ต้องขอยกให้กับคุณผู้หญิงที่แต่งงานหรือมีแฟนแล้วทุกคน เพราะว่าระหว่างที่คุณกินยาเม็ดคุมกำเนิดเป็นประจำทุกวันนั้น ก็ด้วยความหวังที่จะใช้ชีวิตครอบครัวตามปกติ และยังไม่ประสงค์ที่จะมีบุตร จึงต้องกินยาเม็ดคุมกำเนิดติดต่อกันทุกวันเป็นประจำต่อเนื่องเป็นแรมเดือนแรมปี แต่ถ้าระหว่างนั้นมีเหตุจำเป็นที่จะต้องใช้ยาอะม็อกซีซิลลิน (amoxicillin) ซึ่งเป็นยารักษาอาการติดเชื้อ เช่น เจ็บคอร่วมด้วย เมื่อยาทั้ง ๒ ชนิดมาเจอกัน ก็จะเกิดการตีกันของยาได้
โดยยาอะม็อกซีซิลลินจะไปมีผลต่อเชื้อจุลชีพที่อยู่ในทางเดินอาหาร ส่งผลรบกวนการดูดซึมของยาเม็ดคุมกำเนิดในทางเดินอาหาร ทำให้ปริมาณยาคุมกำเนิดที่ถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ลดน้อยลง เมื่อปริมาณยาคุมกำเนิดในเลือดลดน้อยลงกว่าปกติ ก็จะส่งผลทำให้ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดลดน้อยลงด้วย จนอาจทำให้ล้มเหลว ไม่ได้ผลในการคุมกำเนิด และเกิดการตั้งครรภ์ขึ้นได้
กรณีนี้ อาจสังเกตด้วยตนเองได้ว่า ขณะนี้ระดับยาคุมกำเนิดในเลือดลดต่ำลง เพราะจะมีอาการเลือดออกกะปริดกะปรอยได้
ดังนั้น คุณผู้หญิงที่กำลังอยู่ในระหว่างการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดและมีความจำเป็นต้องใช้ยาอะม็อกซีซิลลิน จึงขอแนะนำให้ใช้วิธีการคุมกำเนิดประเภทอื่นร่วมด้วย (เช่น การใช้ถุงยางอนามัย) เพื่อช่วยให้คงการคุมกำเนิดได้ระหว่างที่ใช้ยาอะม็อกซีซิลลิน โดยเริ่มตั้งแต่วันแรกที่ใช้ยาอะม็อกซีซิลลิน จนกระทั่งหยุดใช้ยาไปแล้ว ๑ สัปดาห์ ทั้งนี้เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจจะตั้งครรภ์ได้

ยาลดไขมันในเลือด + ยาอีริโทรไมซิน
การใช้ยาลดไขมันในเลือดกลุ่มสแตตินกับยาอีรีโทรไมซินอาจพาลให้ไตวายได้
ตัวอย่างที่ ๑ แค่คุมกำเนิดไม่ได้ผล ทำให้เกิดการตั้งครรภ์โดยไม่คาดฝัน และต้องเลี้ยงดูบุตรไปจนโต แต่ตัวอย่างที่ ๒ ของยาตีกันนี้ ทำให้เกิดโรคไตวายได้ เรียกว่าเกิดอันตรายกับตัวผู้ใช้ยา และรุนแรงถึงแก่ชีวิตได้ เพราะโรคไตวายนี้มีอาจารย์แพทย์บางท่านจะผวนคำว่า ตายไวและนิยมพูดกันเล่นๆ ว่า ไตวาย ทำให้ตายไว
ยาตีกันดังตัวอย่างที่ ๒ นี้ก็เป็นยาที่ได้รับความนิยมมากอีกชนิดหนึ่ง คือ ยาลดไขมันในเลือดกลุ่มสแตติน (statins) ซึ่งเป็นยาที่ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด เพื่อช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจ
ตัวอย่างยากลุ่มนี้ เช่น ซิมวาสแตติน (simvastatin) อะโทรวาสแตติน (atrovastatin) โลวาสแตติน (lovastatin) เป็นต้น
จะสังเกตได้ว่า ชื่อยากลุ่มนี้จะลงท้ายว่า สแตตินทุกตัว จึงเรียกกันติดปากว่า กลุ่มสแตติน
ยากลุ่มสแตตินนี้นิยมจ่ายให้กับผู้ป่วยที่มีไขมันในเลือดสูง และจะต้องใช้ยาติดต่อกันอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอเป็นประจำ เพื่อควบคุมลดปริมาณคอเลสเตอรอลให้อยู่ในระดับที่เป็นปกติ ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ ทำให้ยอดจำหน่ายยากลุ่มนี้ติดอันดับหนึ่งสูงกว่ายากลุ่มอื่นๆ ติดต่อกันหลายปีทีเดียว
แต่เมื่อไหร่ที่มีการใช้ยาอีรีโทรไมซิน (erythromycin) ร่วมกับยากลุ่มสแตติน ยาอีริโทรไมซินซึ่งเป็นยาปฏิชีวนะอีกชนิดหนึ่งที่นิยมใช้ในผู้ที่แพ้ยาเพนิซิลลิน เมื่อยากลุ่มสแตตินมาพบกับยาอีริโทรไมซิน ก็จะทำให้เกิดปฏิกิริยาระหว่างกัน หรือเกิดยาตีกัน
กรณีนี้ ยาอีริโทรไมซินจะไปยับยั้งการทำลายยากลุ่มสแตติน ทำให้ปริมาณยาสแตตินไม่ถูกทำลายตามปกติ และคงอยู่ในร่างกายนานพร้อมทั้งมีปริมาณมากขึ้น และมีการสะสมตัวยากลุ่มสแตตินในเลือดมากขึ้น จนทำให้เกิดพิษ โดยมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง ปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อลีบ และเป็นพิษต่อไตได้
ดังนั้น ตัวอย่างที่ ๒ นี้เป็นตัวอย่างของยาตีกันที่เป็นอันตรายถึงชีวิต จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาทั้ง ๒ ชนิดนี้ร่วมกัน ซึ่งแก้ปัญหานี้ได้ด้วยการเปลี่ยนจากยาอีริโทรไมซินไปใช้ยาชนิดอื่นแทน หรืออาจจะเปลี่ยนไปใช้ยากลุ่มสแตตินอื่นที่ไม่เกิดผลต่อยาอีริโทรไมซิน เช่น ฟลูวาสแตติน (fluvastatin) พราวาสแตติน (pravastatin) เป็นต้น
นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่ใช้ยากลุ่มสแตตินอยู่ก็จะต้องคอยสังเกตอาการผิดปกติของตนเองด้วย โดยเฉพาะอาการผิดปกติของกล้ามเนื้อ เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เป็นต้น

ยาลดน้ำตาลในเลือด + ยาแก้ปวดข้อกลุ่มเอ็นเสด
การใช้ยาลดน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยโรคเบาหวาน กับยาแก้ปวดข้อกลุ่มเอ็นเสด ทำให้ช็อกได้
ตัวอย่างที่ ๓ เป็นกรณีของผู้ป่วยเบาหวานที่ใช้ยาลดน้ำตาลในเลือดกลุ่มซัลโฟนิลยูเรีย (sulfonylureas) เช่น ไกลเบนคลาไมด์ (glibencalmide) คลอโพรพาไมด์ (chlorpropamide) เป็นต้น
ยากลุ่มนี้มีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยโรคเบาหวาน ซึ่งก็ทำนองเดียวกันกับ ๒ ตัวอย่างแรกที่จะต้องใช้ยานี้อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ เพื่อที่จะได้ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ให้สูงเกินไป เพราะถ้าระดับน้ำตาลในเลือดสูงอยู่เป็นระยะเวลานานๆ จะไปทำลายระบบไหลเวียนโลหิต ทำให้เกิดอาการชาปลายมือปลายเท้า ตาฝ้าฟาง และเป็นโรคไตได้
ถ้าผู้ป่วยได้รับยาแก้ปวดแก้อักเสบข้อและกล้ามเนื้อกลุ่มที่เรียกว่า เอ็นเสด (NSAIDs) เช่น ไดโคลฟีแนก (diclofenac) ไพร็อกซิแคม (piroxicam) ยากลุ่มเอ็นเสดเมื่อเจอกับยากลุ่มซัลโฟนิลยูเรีย ก็จะเกิดการตีกันของยา โดยยาเอ็นเสดจะส่งผลให้ปริมาณยากลุ่มซัลโฟนิลยูเรียในเลือดเพิ่มสูงมากขึ้น ทำให้ฤทธิ์การลดน้ำตาลในเลือดเพิ่มมากขึ้นตาม จนอาจไม่มีน้ำตาลเหลืออยู่ในเลือดเลย ผู้ป่วยก็อาจจะมีอาการอ่อนแรง เป็นลม หมดสติ และช็อกได้
กรณีนี้ก็เช่นเดียวกับต้วอย่างที่ ๒ ที่จะต้องระวังตัวไม่ควรใช้ยากลุ่มเอ็นเสดร่วมกับยากลุ่มซัลโฟนิลยูเรีย เพื่อไม่ให้เกิดการตีกันของยา และทางที่ดีควรติดตามวัดระดับน้ำตาลในเลือด หรือลดขนาดของยากลุ่มซัลโฟนิลยูเรียลงให้เหมาะสมระหว่างที่มีการใช้ยากลุ่มเอ็นเสดร่วมด้วย

สมุดบันทึกยา : วิธีง่ายๆ ที่ช่วยป้องกันยาตีกัน
จากทั้ง ๓ ตัวอย่างของ ๓ คู่ของยาตีกัน ที่อาจส่งผลต่อการรักษา และ/หรือทำให้เกิดพิษ เกิดอันตรายจากการใช้ยาได้ ในที่นี้ขอแนะนำวิธีง่ายๆ ในการช่วยป้องกันยาตีกัน ก็คือสมุดบันทึกยา
สมุดบันทึกยาหรือบันทึกรายการยา ใช้บันทึกรายชื่อยาทั้งหมด ทั้งที่ใช้ประจำ และนานๆ ใช้ครั้งหนึ่ง รวมถึงผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร วิตามิน เกลือแร่ และสมุนไพรด้วย โดยนำรายชื่อยาและสารอื่นๆ เหล่านี้ไปปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกร ว่าจะมีโอกาสเกิดยาตีกันหรือไม่ จะได้เฝ้าระวัง ป้องกัน และหลีกเลี่ยงตามลักษณะเฉพาะของยาแต่ละคู่แต่ละประเภท
กรณีที่จะไปพบแพทย์หรือเภสัชกร เพื่อรักษาโรค ก็ขอเสนอให้พกสมุดบันทึกยา (หรือบันทึกรายการยา) ไปด้วยเสมอ และควรแสดงให้กับแพทย์ที่ตรวจรักษาได้รับรู้ และ/หรือแสดงให้เภสัชกรที่จ่ายยาได้ทราบ เพื่อจะจ่ายยาให้เหมาะสมไม่เกิดการตีกัน

คำว่า ยาตีกัน” มาจากภาษาอังกฤษว่า drug interaction แปลตรงตัวคือ ปฏิกิริยาระหว่างยา
ยาอะม็อกซีซิลลินรบกวนการดูดซึมของยาเม็ดคุมกำเนิดในทางเดินอาหาร ทำให้ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดลดน้อยลง
ยาอีรีโทรไมซินยับยั้งการทำลายยากลุ่มสแตติน ในเลือดมีการสะสมตัวยากลุ่มสแตตินมากขึ้นทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง ปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อลีบ และเป็นพิษต่อไตได้
ถ้าได้รับยาแก้ปวดแก้อักเสบข้อกลุ่มเอ็นเสด เมื่อเจอกับยากลุ่มซัลโฟนิลยูเรีย ก็จะเกิดการตีกัน ผู้ป่วยก็อาจจะอ่อนแรง เป็นลม หมดสติ และเกิดช็อกได้

การแพ้ยา
การแพ้ยาเกิดจากกระบวนการในระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายอย่างเฉียบพลันหลังจากได้รับยา เป็นการเกิดเฉพาะรายเฉพาะบุคคล จึงมีโอกาสในการเกิดและระดับความรุนแรงของอาการแตกต่างกันไป และไม่สามารถทราบได้ล่วงหน้า อาการแพ้ยาที่รุนแรงและอาจถึงแก่ชีวิตมีลักษณะดังต่อไปนี้
๑. เกิดขึ้นภายใน ๑ ชั่วโมงหลังจากใช้ยา โดยมีโอกาสเกิดขึ้นได้แม้ว่าจะเคยมีประวัติใช้ยานี้มาก่อน
๒. ประกอบด้วยอาการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้
ผื่นลมพิษ เปลือกตาบวม หน้าบวม หายใจมีเสียงผิดปกติ (เสียงหวีดหวิว) หายใจลำบาก หน้ามืดเป็นลม ความดันโลหิตต่ำ มีผื่นหรือผิวหนังลอกบริเวณปาก รอบทวารหนัก หรือรอบอวัยวะเพศ
อาการแพ้ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นอาการแพ้ที่รุนแรง จัดเป็นภาวะฉุกเฉินที่ผู้ป่วยต้องไปรับการตรวจรักษาจากแพทย์ทันที ไม่ควรกินยาต่อเพราะจะทำให้อาการแพ้รุนแรงขึ้น และอาจทำให้เสียชีวิตได้ หลังจากประเมินอาการแพ้แล้ว จะต้องบันทึก ประวัติการแพ้ยาและแพทย์จะพิจารณาเปลี่ยนใช้ยากลุ่มอื่นทดแทน เพื่อควบคุมอาการของโรค หากหยุดยาเองโดยไม่ไปพบแพทย์ และไม่ได้รับยาทดแทน โรคที่เป็นอยู่อาจกำเริบจนเป็นอันตรายได้
ผลข้างเคียงจากยา
โดยทั่วไปมักไม่จัดผลข้างเคียงจากยาเป็นภาวะฉุกเฉินที่ผู้ป่วยต้องรีบไปรับการรักษาจากแพทย์ แต่หากปล่อยทิ้งไว้ ก็อาจเกิดอันตรายต่อผู้ป่วยได้เช่นกัน เช่น ยาที่มีฤทธิ์กัดกระเพาะ อาจทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร เสียเลือดจากแผล เกิดภาวะเลือดจาง และอาจทำให้เกิดภาวะหัวใจทำงานมากเกินไปจนเกิดภาวะหัวใจวายได้
อย่างไรก็ตาม ผลข้างเคียงอื่นๆ จากยา อาจไม่ส่งผลให้เกิดอันตรายร้ายแรงแก่ผู้ป่วย เพียงแต่ก่อให้เกิดความรำคาญ หรือเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ เมื่อหยุดยา อาการผิดปกตินั้นจะหายไปเองได้ หรือในยาบางชนิด ผลข้างเคียงอาจหายไปแล้วแม้ว่าจะไม่หยุดยาก็ตาม
เช่น ยาลดน้ำมูก คลอร์เฟนิรามีน อาจทำให้ง่วงซึม แต่เมื่อกินยาติดต่อกันไประยะหนึ่ง อาการง่วงซึมจะลดลงหรือหายไป หรือเมื่อหยุดยาอาการง่วงซึมก็จะหายไปเช่นกัน
อาการง่วงซึมนี้ไม่เป็นอันตราย ยกเว้นกรณีที่กินยาแล้วไปขับรถหรือทำงานกับเครื่องจักรกล ก็อาจทำให้การตัดสินใจขับรถหรือทำงานกับเครื่องจักรกลผิดพลาดได้
อาการข้างเคียงบางอย่างอาจเป็นมากจนรู้สึกทนไม่ได้ ทำให้ผู้ป่วยหยุดยาเอง เช่น มีอาการคลื่นไส้อาเจียนมาก ไอรุนแรง ขาบวม เป็นต้น อาการเหล่านี้หากเกิดขึ้นควรบอกแพทย์เพื่อพิจารณาเปลี่ยนยา อย่าหยุดยาเองเพราะจะทำให้อาการของโรคกำเริบได้
ข้อแนะนำการใช้ยา
๑. ก่อนใช้ยา ควรอ่านฉลากยาอย่างละเอียด และไม่ควรกินยาของคนอื่น การไม่อ่านฉลากยา และใช้ยาผิด อาจทำให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
๒. การกินยาหลังอาหาร หมายถึง กินยาหลังอาหารทันที ไม่จำเป็นต้องรอเวลา (๓๐ นาทีถึง ๑ ชั่วโมง)
๓. ยาส่วนใหญ่จะระบุให้กินหลังอาหารเพื่อให้จำง่าย ซึ่งผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่มีภารกิจเร่งรีบจนไม่มีเวลากินอาหารตามมื้อควรกินยาในเวลาเดียวกันเป็นประจำ โดยไม่ต้องคำนึงถึงการกินอาหาร เพื่อผลในการควบคุมโรค เช่น ยารักษาโรคความดันโลหิตสูง ยาขับปัสสาวะ ที่ต้องกินตรงเวลาทุกเช้า
๔. ยาบางชนิดจำเป็นต้องกินหลังอาหารทันทีหรือพร้อมอาหาร เนื่องจากมีฤทธิ์กัดกระเพาะ ดังนั้น หากถึงเวลากินยาก็จำเป็นต้องกินอาหารรองท้องไว้ เพื่อป้องกันอันตรายที่เกิดจากยากัดกระเพาะจนอาจเป็นแผลเลือดออก ไม่ควรแก้ปัญหาด้วยการงดยา เพราะจะทำให้ควบคุมอาการของโรคไม่ได้
๕. ยาที่ต้องกินก่อนอาหาร หมายถึง กินก่อนมื้ออาหารครึ่งชั่วโมงขึ้นไป (๓๐ นาทีถึง ๑ ชั่วโมง) เนื่องจากอาหารจะลดการดูดซึมของยา หรือเพื่อให้ยาออกฤทธิ์บรรเทาอาการได้ในเวลากินอาหาร เช่น ยาแก้คลื่นไส้อาเจียน หากลืมกินยา และกินอาหารไปแล้ว ให้กินยาหลังอาหารมื้อนั้น ๑ ชั่วโมงขึ้นไป เพื่อให้ท้องว่าง แต่ต้องระวังว่าเวลาที่กินอาหารจะไม่ใกล้กับยาในมื้อถัดไป
๖. ผู้ป่วยโรคเบาหวานจะต้องกินยาก่อนอาหารเป็นนาทีถึงครึ่งชั่วโมง แล้วแต่ชนิดของยา เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดจากการกินอาหาร จึงจำเป็นต้องกินอาหารหลังกินยาทุกครั้ง มิฉะนั้นจะเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำเกินไป ทำให้หน้ามืด วิงเวียน เป็นลม และในทางกลับกัน หากงดยาเองเพราะไม่อยากกินอาหารก็อาจทำให้ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น
๗. การกินยามีความสำคัญ ผู้ป่วยที่ไม่มั่นใจในการกินยาควรปรึกษาเภสัชกรที่ห้องจ่ายยาโรงพยาบาลหรือร้านยาทุกครั้ง เพื่อให้ใช้ยาได้อย่างปลอดภัย เภสัชกรสามารถจัดตารางการกินยาให้เหมาะสมและสอดคล้องกับการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้ป่วย หรือแม้แต่ประสานกับแพทย์ เพื่อปรับเปลี่ยนยาที่ต้องกินวันละหลายๆ ครั้ง ซึ่งไม่สะดวก มาเป็นเพียงวันละ ๑-๒ ครั้ง ไม่ควรลดหรือเพิ่มขนาดยาเอง
๘. การไปพบแพทย์หลายๆ โรงพยาบาล (หรือคลินิก) อาจทำให้ได้รับยาชนิดเดียวกัน ผู้ป่วยต้องกินยาซ้ำซ้อน หรือเกิด การตีกันของยา ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงรุนแรงแก่ผู้ป่วยได้ การไปพบแพทย์หรือเภสัชกรจึงควรมีรายการยาหรือนำยาที่กำลังใช้อยู่ทุกชนิดไปด้วยทุกครั้ง เพื่อให้เภสัชกรพิจารณาว่ามียาซ้ำซ้อนกันหรือไม่ หรือยาตีกันหรือไม่ จะได้หาทางแก้ไขและป้องกัน เพื่อให้ผู้ป่วยปลอดภัยจากการใช้ยา
๙. ผู้ป่วยที่มีภาวะตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร ควรแจ้งเภสัชกรทุกครั้งที่รับยา เพื่อให้เภสัชกรพิจารณาความเหมาะสมของยา และผลของยาที่อาจมีต่อบุตรในครรภ์หรือบุตรที่ได้รับนมแม่
 
ข้อมูลจากhttp://www.doctor.or.th/article/detail/15347