Wednesday, August 6, 2014

เซรุ่มรักษาอีโบลา

ส.ค.2557 ขณะที่อีโบลา กำลังระบาดหนักในแอฟริกา มีผู้ป่วยตายแล้วเกือบพันคน
คำถามที่หลายคนเริ่มสงสัยในตอนนี้ ก็คือมหาอำนาจสหรัฐฯ ที่เป็นเจ้าของเซรุ่มรักษาอีโบลา ทำไมจึงไม่ยอมส่งเซรุ่มดังกล่าวไปยังแอฟริกาตะวันตก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสอีโบลาอย่างหนัก หรือเซรุ่มนี้จะเก็บไว้ใช้กับชาวอเมริกันเท่านั้น 

ZMapp คือชื่อของเซรุ่มที่ผลิตโดยบริษัท Mapp Biopharmaceutical ในสหรัฐฯ เซรุ่มดังกล่าวคิดค้นขึ้นมาเพื่อใช้รักษาผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสอีโบลาโดยเฉพาะ และในตอนนี้ กำลังมีการทดลองใช้เซรุ่มดังกล่าว กับนายแพทย์เคนต์ แบรนต์ลีย์ แพทย์อาสาสมัครที่เข้าไปช่วยเหลือผู้ป่วยอีโบลาในไลบีเรีย และนางแนนซี ไรต์โบล มิชชันนารีที่ทำงานร่วมกับนายแพทย์แบรนต์ลีย์ สองชาวอเมริกันที่ติดเชื้อไวรัสอีโบลา และขณะนี้ กำลังอยู่ระหว่างการรักษาตัวที่โรงพยาบาลแห่งมหาวิทยาลัยอีมอรี ในนครแอตแลนตา มลรัฐจอร์เจีย 

หลังจากที่ผู้ป่วยทั้งสองคน ได้รับเซรุ่มดังกล่าว ก็มีอาการดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แต่ยังไม่มีการยืนยันออกมาว่า ZMapp จะช่วยให้ผู้ป่วยทั้งสองหายขาดจากโรคระบาดร้ายแรงชนิดนี้ได้หรือไม่ เมื่อมีการเผยแพร่เรื่องผลการรักษาออกไป ทั่วโลกก็เริ่มตั้งคำถามว่า เหตุใดสหรัฐฯ จังไม่ยอมผลิตเซรุ่มนี้ในปริมาณมาก และส่งออกไปยังทวีปแอฟริกา เพื่อให้การช่วยเหลือชาวแอฟริกันคนอื่นๆ ที่กำลังทุกข์ทรมานจากการติดเชื้อไวรัสอีโบลาอยู่ในตอนนี้ หรือสหรัฐฯ จะเก็บเซรุ่มดังกล่าว เอาไว้ใช้กับพลเมืองของตนเองเท่านั้น

ก่อนอื่นคงต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ZMapp เป็นเซรุ่มที่ไม่เคยใช้ทดลองกับมนุษย์มาก่อน เพราะที่ผ่านมา ทีมวิจัยใช้ทดลองกับลิงเท่านั้น และในช่วงหลายปีที่ผ่านมาการระบาดของเชื้อไวรัสชนิดนี้ไม่ได้แพร่หลายมากเท่ากับโรคระบาดร้ายแรงอื่นๆ จึงทำให้การทดลองไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร 

แต่ล่าสุด การแพร่ระบาดครั้งใหม่ ที่ได้คร่าชีวิตผู้คนไปเกือบ 1,000 รายแล้วนั้น ได้ทำให้บริษัท Mapp Biopharmaceutical ต้องเร่งมือทดสอบเซรุ่มดังกล่าวมากขึ้น ท่ามกลางความคาดหวัง ว่าเซรุ่มชนิดนี้ จะช่วยให้ผู้ติดเชื้อไวรัสอีโบลาหายขาดได้ อย่างไรก็ตาม ในวงการแพทย์นั้นเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า การนำเซรุ่มที่ไม่เคยทดลองกับมนุษย์มาก่อน มาใช้ในผู้ป่วยจริง เป็นเรื่องที่เสี่ยงอันตรายมาก เพราะไม่มีใครสามารถรู้ได้เลยว่า เซรุ่มชนิดนี้ จะก่อให้เกิดผลค้างเคียงใดๆหรือไม่ ในในกรณีที่เลวร้ายที่สุด ก็อาจทำให้ผู้ป่วยที่ได้รับเซรุ่มเสียชีวิตเลยก็เป็นได้

ซึ่งนายแพทย์แบรนต์ลีย์ และนางไรต์โบล ก็ทราบเงื่อนไขดังกล่าวเป็นอย่างดี แต่ก็ไม่ได้ปฏิเสธ เพราะรู้อยู่แล้วว่า เมื่อได้รับเชื้อไวรัสดังกล่าวเข้าสู่ร่างกาย โอกาสที่จะรอดชีวิตมีน้อยมาก นอกจากนี้ การใช้เซรุ่ม ZMapp ยังติดเงื่อนไขสำคัญ ที่วงการแพทย์แสดงความกังวลเป็นอย่างยิ่ง นั่นก็คือ FDA หรือองค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ ยังไม่ได้ให้การรับรองเซรุ่มดังกล่าว เพราะยังอยู่ระหว่างการทดลองใช้งาน

ซึ่งตามความเป็นจริงแล้ว หากเซรุ่มชนิดนี้ ยังไม่ได้รับการรับรองจาก FDA บริษัทผู้ผลิต ไม่มีสิทธิ์นำไปใช้กับผู้ป่วยจริง เพราะเสี่ยงอันตรายเกินไป แต่สำหรับกรณีของนายแพทย์แบรนต์ลีย์ และนางไรต์โบลนั้น ถือเป็นกรณีเร่งด่วน และพิเศษเป็นอย่างยิ่ง อีกทั้ง ทั้งคู่ยังยินยอมที่จะให้ใช้เซรุ่มดังกล่าวกับตนเอง แม้ว่าท้ายที่สุดแล้ว ผลที่ออกมาจะไม่เป็นไปตามคาดก็ตาม

นอกจากนี้ การผลิตเซรุ่ม ZMapp ในแต่ละโดสนั้น ยังมีความยากลำบากในกระบวนการผลิตเป็นอย่างยิ่ง ทำให้การทำเซรุ่มนี้ในปริมาณมาก แทบจะเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ในตอนนี้ นี่จึงเป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมเซรุ่ม ZMapp จึงยังถูกใช้อย่างจำกัด และสหรัฐฯก็ยังไม่กล้าพอ ที่จะส่งเซรุ่มดังกล่าวไปยังทวีปแอฟริกา เพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาด เพราะยังไม่ทราบแน่ชัดว่า เซรุ่มนี้ใช้งานได้จริงหรือไม่

ซึ่งหากว่าเซรุ่มดังกล่าว ใช้งานได้จริง และช่วยรักษาผู้ป่วยให้หายจากอีโบลาได้ คำถามที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ ใครควรจะเป็นคนกลุ่มแรกที่ได้รับเซรุ่มนี้  กลุ่มแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ที่ทำงานอยู่ในพื้นที่แพร่ระบาดใช่หรือไม่ หรือควรจะเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่กำลังทุกข์ทรมานจากเชื้อไวรัสดังกล่าว สิ่งเหล่านี้ อาจเป็นปัญหาตามมาในอนาตต หากการแพร่ระบาดยังคงรุนแรงอยู่เช่นนี้
http://news.voicetv.co.th/global/113408.html