นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ เปิดเผยว่า ในช่วงวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา พุทธศาสนิกชนชาวไทย จะร่วมทำบุญตักบาตรและจุดธูปเวียนเทียน นอกจากความอิ่มใจจากการร่วมกันทำบุญตักบาตร แต่ยังมีภัยเงียบที่แฝงมากับการจุดธูปที่ควรต้องระมัดระวังด้วย จากงานวิจัยของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ โดย นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ ประธานกรรมการทุนวิจัย วัณโรคดื้อยา ศิริราชมูลนิธิ หัวหน้าแผนกไอซียู โรงพยาลวิชัยยุทธ ระบุว่า ธูปเป็นเครื่องหอมที่ทำจากขี้เลื่อย กาว น้ำมันหอมสกัดจากพืช ไม้หอม ใบไม้ เปลือกไม้ รากไม้ เมล็ดพืช เรซิน และสารเคมีที่ใช้ในอุตสาหกรรมน้ำหอมก็จะพอกอยู่บนก้านไม้ ธูปมีหลายรูปหลายขนาดตั้งแต่เล็กถึงใหญ่มาก เผาไหม้หมดในเวลา 20 นาที ถึง 3 วัน 3 คืน ซึ่งในประเทศไทย ในการบูชาพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ บางคนต้องจุดธูปถึง 9 ดอก
ทั้งนี้ การจุดธูป จะเกิดการเผาไหม้และปล่อยสารพิษ ฝุ่นละอองขนาดเล็กต่างๆ มากมาย ตลอดจนสารก่อมะเร็งต่างๆ เช่น ฟอร์มาลีไฮด์ เบซีน และบิวทาไดอีน ซึ่งเหล่านี้ล้วนเป็นภัยเงียบที่แฝงตัวอยู่ในควันธูป ซึ่งเกิดจากการเผาไหม้ อาจก่อให้เกิดมะเร็งได้หลายชนิด เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งในระบบเลือด และมะเร็งในกระเพาะปัสสาวะ นอกจากนี้ ยังพบว่าคนที่ต้องอยู่กับควันธูปเป็นระยะเวลานานมีความเสี่ยงต่อการได้รับมลพิษ และการเกิดโรคต่างๆ อาทิ โรคมะเร็ง อีกด้วย
นพ.อนุชากล่าวต่อว่า ผู้ที่มีอาการของการเป็นโรคปอด หรือโรคหอบหืด หรือมีอาการเจ็บป่วยจากทางเดินหายใจ ควรงดการใช้ธูป หรือถ้าจะใช้ก็ควรลดปริมาณของธูปลง ทั้งนี้ หากเราพบเห็นผู้ป่วยโรคหอบหืดมีอาการกำเริบ เช่นหายใจติดขัดให้รีบโทรแจ้งสายด่วน 1669 พร้อมทำตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ในลำดับต่อไป
http://www.khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=TVRNNU1qWXdOVGMyT1E9PQ==&subcatid=