Thursday, February 13, 2014

เครือข่ายต้านภัยวัณโรคในพื้นที่ กทม.

รพ.รัฐ-เอกชนกว่า 100 แห่ง ร่วมเป็นเครือข่ายต้านภัยวัณโรคในพื้นที่ กทม.


วันที่ 13 ก.พ.2557 ที่โรงแรมนารายณ์ เขตบางรัก นางผุสดี ตามไท รองผู้ว่าฯกทม. เป็นประธานเปิดงาน “กรุงเทพฯ หยุดวัณโรค” เพื่อประสานความร่วมมือกับสถานพยาบาลภาครัฐ และเอกชนทุกสังกัดในการขับเคลื่อนให้เกิดสัมฤทธิ์ผลของการควบคุมวัณโรคในพื้นที่กรุงเทพฯ อย่างเป็นระบบ และมีมาตรฐานเดียวกัน พร้อมมอบโล่เกียรติคุณและ ประกาศเกียรติบัตรแก่ผู้ปฏิบัติงานของโรงพยาบาลภาครัฐ และเอกชนที่เป็นเครือข่ายดำเนินงานและสนับสนุนการดำเนินงานวัณโรค จำนวน 117 แห่ง เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการป้องกันและเฝ้าระวัง ตลอดจนรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญและตระหนักถึงปัญหาความรุนแรงของวัณโรคและมีการควบคุมป้องกันโรคอย่างจริงจัง

โดยนางผุสดี กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยยังคงเป็น 1 ใน 22 ประเทศที่มีปัญหาวัณโรครุนแรงของโลก จากการสำรวจทั่วโลกพบว่ามีผู้ป่วยวัณโรค ประมาณ 8 ล้านคน มีผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาประมาณ 5 ล้านคน ส่วนอีก 3 ล้านคน ยังไม่เข้าสู่ระบบการรักษา ทั้งนี้ในประเทศไทยมีผู้ป่วยวัณโรคประมาณ 8 หมื่นคน และในพื้นที่กรุงเทพมหานครมีผู้ป่วยวัณโรคประมาณ 11,000–12,000 คน ซึ่งมีผู้ป่วยบางส่วนที่ยังไม่ทราบว่าตนเองติดเชื้อวัณโรคและบางส่วนที่ยังไม่ได้เข้ารับการรักษา นอกจากนี้ผู้ป่วยบางรายที่ไม่สามารถเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่องตามระยะเวลาที่กำหนดจึงอาจดื้อยา ยากต่อการรักษา และอาจแพร่เชื้อวัณโรคไปสู่ผู้อื่นได้ กรุงเทพมหานครให้ความสำคัญต่อการป้องกันและเฝ้าระวังวัณโรคตามนโยบายมหานครแห่งความสุข ของ ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯกทม. เนื่องจากในพื้นที่กรุงเทพฯ มีสภาวะสิ่งแวดล้อมที่แออัดและมีจำนวนผู้ติดเชื้อมาก รวมถึงการเคลื่อนย้ายของประชากร จึงเป็นปัจจัยหลักที่จะส่งเสริมการแพร่ระบาดของเชื้อวัณโรค

สำหรับวัณโรคเป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เนื่องจากพัฒนาการทางด้านการรักษา และตัวยาที่ใช้ในการรักษามีประสิทธิภาพสูงขึ้น โดยใช้ระยะเวลาในการรักษา เพียง 6 เดือนเท่านั้น แต่ผู้ป่วยที่ติดเชื้อวัณโรคจำเป็นจะต้องกินยาตามชนิดและขนาดที่แพทย์สั่งอย่างต่อเนื่อง ถูกต้องและครบถ้วนอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งสามารถสำรวจอาการข้างต้นได้ง่ายๆด้วยตนเอง จากการไอเรื้อรังเป็นระยะเวลา นานเกิน 2 สัปดาห์ ไอเจ็บหน้าอก หอบเหนื่อยหรือไปมีเสมหะปนเลือด มีไข้ต่ำ ตอนบ่ายๆ หรือค่ำ มีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด และมีเหงื่อออกมากผิดปกติตอนกลางคืน และหากสงสัยว่าตนเองหรือคนใกล้ชิดมีอาการดังกล่าว สามารถเข้ารับการตรวจรักษาโรคโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายได้ที่ ศูนย์บริการสาธารณสุขใกล้บ้าน โรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานคร สอบถามเพิ่มเติมที่กองควบคุมโรคเอดส์ วัณโรค และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร โทร. 0 2860 8751-6 ต่อ 504–505
ขอบคุณบทความจากข่าวสดออนไลน์
http://www.khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=TVRNNU1qSTVNVFkxTVE9PQ==&subcatid=