Tuesday, February 18, 2014

ผ่าตัดไส้ติ่งไร้แผลในสตรี

ศัลยแพทย์โรงเรียนแพทย์ มหาวิทยาลัยเยลของสหรัฐฯ ได้ผ่าตัดไส้ติ่งให้กับคนไข้สตรี โดยปราศจากรอยแผลที่หน้าท้อง เพราะทำผ่านทางช่องคลอด

คณะแพทย์ได้ทำด้วยเทคนิคที่เรียกกันว่า “การผ่าตัดอย่างไร้รอยแผล” ซึ่งช่วยให้คนไข้ไม่มีรอยแผลผ่าตัดตามตัวเลย และรู้สึกเจ็บปวดหลังการผ่าตัดเพียงเล็กน้อย จนคนไข้กลับเป็นปกติ พอผ่าตัดเสร็จลงเกือบจะในทันที

ดร.เคิร์ท รอเบิร์ท หัวหน้าคณะสัตวแพทย์ กล่าวว่า “เพราะไม่มีรอยแผลที่หน้าท้อง จึงไม่มีอันตรายของการเกิดเป็นไส้เลื่อน เนื่องมาจากการผ่าตัด หรือแผลอักเสบขึ้นทีหลัง คนไข้จึงหายคืนเป็นปกติได้โดยเร็ว ชั่วในเวลาแค่เพียง 2-3 วัน”

หมอรอเบิร์ทยังเชื่อว่า ผลดีของการผ่าตัดแบบนี้ จะปราศจากโรคแทรก และคนไข้กลับคืนหายเป็นปกติได้อย่างรวดเร็ว คงจะถูกนำไปใช้ในการผ่าตัดของยุคใหม่กันมากขึ้น อย่างเช่น การผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดี รังไข่และ ท่อมดลูก แต่หยอดท้ายว่า “เสียดายแต่ว่า คนไข้ผู้ชายไม่มีวาสนาจะได้ทำเท่านั้น เพราะไม่รู้จะทำทางไหน”.
 
 
ที่มา : www.thairath.co.th 

Monday, February 17, 2014

เตือนผู้ป่วยโรคหอบหืด ควรหลีกเลี่ยง-ลดปริมาณการใช้ธูป

นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ เปิดเผยว่า ในช่วงวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา พุทธศาสนิกชนชาวไทย จะร่วมทำบุญตักบาตรและจุดธูปเวียนเทียน นอกจากความอิ่มใจจากการร่วมกันทำบุญตักบาตร แต่ยังมีภัยเงียบที่แฝงมากับการจุดธูปที่ควรต้องระมัดระวังด้วย จากงานวิจัยของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ โดย นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ ประธานกรรมการทุนวิจัย วัณโรคดื้อยา ศิริราชมูลนิธิ หัวหน้าแผนกไอซียู โรงพยาลวิชัยยุทธ ระบุว่า ธูปเป็นเครื่องหอมที่ทำจากขี้เลื่อย กาว น้ำมันหอมสกัดจากพืช ไม้หอม ใบไม้ เปลือกไม้ รากไม้ เมล็ดพืช เรซิน และสารเคมีที่ใช้ในอุตสาหกรรมน้ำหอมก็จะพอกอยู่บนก้านไม้ ธูปมีหลายรูปหลายขนาดตั้งแต่เล็กถึงใหญ่มาก เผาไหม้หมดในเวลา 20 นาที ถึง 3 วัน 3 คืน ซึ่งในประเทศไทย ในการบูชาพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ บางคนต้องจุดธูปถึง 9 ดอก 

ทั้งนี้ การจุดธูป จะเกิดการเผาไหม้และปล่อยสารพิษ ฝุ่นละอองขนาดเล็กต่างๆ มากมาย ตลอดจนสารก่อมะเร็งต่างๆ เช่น ฟอร์มาลีไฮด์ เบซีน และบิวทาไดอีน ซึ่งเหล่านี้ล้วนเป็นภัยเงียบที่แฝงตัวอยู่ในควันธูป ซึ่งเกิดจากการเผาไหม้ อาจก่อให้เกิดมะเร็งได้หลายชนิด เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งในระบบเลือด และมะเร็งในกระเพาะปัสสาวะ นอกจากนี้ ยังพบว่าคนที่ต้องอยู่กับควันธูปเป็นระยะเวลานานมีความเสี่ยงต่อการได้รับมลพิษ และการเกิดโรคต่างๆ อาทิ โรคมะเร็ง อีกด้วย

นพ.อนุชากล่าวต่อว่า ผู้ที่มีอาการของการเป็นโรคปอด หรือโรคหอบหืด หรือมีอาการเจ็บป่วยจากทางเดินหายใจ ควรงดการใช้ธูป หรือถ้าจะใช้ก็ควรลดปริมาณของธูปลง ทั้งนี้ หากเราพบเห็นผู้ป่วยโรคหอบหืดมีอาการกำเริบ เช่นหายใจติดขัดให้รีบโทรแจ้งสายด่วน 1669 พร้อมทำตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ในลำดับต่อไป

http://www.khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=TVRNNU1qWXdOVGMyT1E9PQ==&subcatid=

Thursday, February 13, 2014

เครือข่ายต้านภัยวัณโรคในพื้นที่ กทม.

รพ.รัฐ-เอกชนกว่า 100 แห่ง ร่วมเป็นเครือข่ายต้านภัยวัณโรคในพื้นที่ กทม.


วันที่ 13 ก.พ.2557 ที่โรงแรมนารายณ์ เขตบางรัก นางผุสดี ตามไท รองผู้ว่าฯกทม. เป็นประธานเปิดงาน “กรุงเทพฯ หยุดวัณโรค” เพื่อประสานความร่วมมือกับสถานพยาบาลภาครัฐ และเอกชนทุกสังกัดในการขับเคลื่อนให้เกิดสัมฤทธิ์ผลของการควบคุมวัณโรคในพื้นที่กรุงเทพฯ อย่างเป็นระบบ และมีมาตรฐานเดียวกัน พร้อมมอบโล่เกียรติคุณและ ประกาศเกียรติบัตรแก่ผู้ปฏิบัติงานของโรงพยาบาลภาครัฐ และเอกชนที่เป็นเครือข่ายดำเนินงานและสนับสนุนการดำเนินงานวัณโรค จำนวน 117 แห่ง เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการป้องกันและเฝ้าระวัง ตลอดจนรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญและตระหนักถึงปัญหาความรุนแรงของวัณโรคและมีการควบคุมป้องกันโรคอย่างจริงจัง

โดยนางผุสดี กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยยังคงเป็น 1 ใน 22 ประเทศที่มีปัญหาวัณโรครุนแรงของโลก จากการสำรวจทั่วโลกพบว่ามีผู้ป่วยวัณโรค ประมาณ 8 ล้านคน มีผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาประมาณ 5 ล้านคน ส่วนอีก 3 ล้านคน ยังไม่เข้าสู่ระบบการรักษา ทั้งนี้ในประเทศไทยมีผู้ป่วยวัณโรคประมาณ 8 หมื่นคน และในพื้นที่กรุงเทพมหานครมีผู้ป่วยวัณโรคประมาณ 11,000–12,000 คน ซึ่งมีผู้ป่วยบางส่วนที่ยังไม่ทราบว่าตนเองติดเชื้อวัณโรคและบางส่วนที่ยังไม่ได้เข้ารับการรักษา นอกจากนี้ผู้ป่วยบางรายที่ไม่สามารถเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่องตามระยะเวลาที่กำหนดจึงอาจดื้อยา ยากต่อการรักษา และอาจแพร่เชื้อวัณโรคไปสู่ผู้อื่นได้ กรุงเทพมหานครให้ความสำคัญต่อการป้องกันและเฝ้าระวังวัณโรคตามนโยบายมหานครแห่งความสุข ของ ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯกทม. เนื่องจากในพื้นที่กรุงเทพฯ มีสภาวะสิ่งแวดล้อมที่แออัดและมีจำนวนผู้ติดเชื้อมาก รวมถึงการเคลื่อนย้ายของประชากร จึงเป็นปัจจัยหลักที่จะส่งเสริมการแพร่ระบาดของเชื้อวัณโรค

สำหรับวัณโรคเป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เนื่องจากพัฒนาการทางด้านการรักษา และตัวยาที่ใช้ในการรักษามีประสิทธิภาพสูงขึ้น โดยใช้ระยะเวลาในการรักษา เพียง 6 เดือนเท่านั้น แต่ผู้ป่วยที่ติดเชื้อวัณโรคจำเป็นจะต้องกินยาตามชนิดและขนาดที่แพทย์สั่งอย่างต่อเนื่อง ถูกต้องและครบถ้วนอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งสามารถสำรวจอาการข้างต้นได้ง่ายๆด้วยตนเอง จากการไอเรื้อรังเป็นระยะเวลา นานเกิน 2 สัปดาห์ ไอเจ็บหน้าอก หอบเหนื่อยหรือไปมีเสมหะปนเลือด มีไข้ต่ำ ตอนบ่ายๆ หรือค่ำ มีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด และมีเหงื่อออกมากผิดปกติตอนกลางคืน และหากสงสัยว่าตนเองหรือคนใกล้ชิดมีอาการดังกล่าว สามารถเข้ารับการตรวจรักษาโรคโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายได้ที่ ศูนย์บริการสาธารณสุขใกล้บ้าน โรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานคร สอบถามเพิ่มเติมที่กองควบคุมโรคเอดส์ วัณโรค และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร โทร. 0 2860 8751-6 ต่อ 504–505
ขอบคุณบทความจากข่าวสดออนไลน์
http://www.khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=TVRNNU1qSTVNVFkxTVE9PQ==&subcatid=

Monday, February 3, 2014

กินยานอนหลับมากเสี่ยงหัวใจวาย

นักวิจัยไต้หวันเตือนกินยานอนหลับมากเสี่ยงหัวใจวาย ระบุ อย.สหรัฐฯ แนะลดปริมาณยาลงครึ่งหนึ่ง ด้าน อย.ไทยเผยทำได้แค่เฝ้าระวัง บอกยังไม่ได้รับรายงานเรื่องอาการข้างเคียงจากการใช้ยา ระบุแต่เป็นยาที่ต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์หรือเภสัชกรอยู่แล้ว แถมกำหนดให้ลดปริมาณยาครึ่งหนึ่งจริง กินไม่เกิน 1 สัปดาห์ ขณะที่ กพย.จี้ อย.ต้องรู้จักศึกษาต่อยอดบ้าง             

 ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)  กล่าวถึงกรณีโลกออนไลน์มีการโพสต์เตือนยานอนหลับชื่อสามัญ โซลพิแดม (Zolpidem) โดยอ้างนักวิจัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยไต้หวันที่ทำการศึกษาสารออกฤทธิ์ ซึ่งพบหากใช้ปริมาณมากเกินไปจะส่งผลต่อเส้นเลือดใหญ่และนำไปสู่หัวใจวาย โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคหัวใจ และหากกินยาขนาด 10 มิลลิกรัมทุกสัปดาห์ก็เพิ่มความเสี่ยงเกิดโรคหัวใจวายได้เท่าตัว ซึ่งองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา ได้แนะนำให้ลดปริมาณยาลงครึ่งหนึ่งคือ 5 มิลลิกรัม แต่หน่วยงานที่รับผิดชอบของไทยกลับไม่ตื่นตัว ว่า ยาโซลพิแดมจัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทประเภท 2 คือ อนุญาตให้ใช้ได้เฉพาะคลินิกที่มีใบอนุญาตเท่านั้น และโรงพยาบาลก็สามารถใช้ได้ ยกเว้นร้านขายยาทั่วไป หากฝ่าฝืนจะมีโทษจำคุกตั้งแต่ 5-20 ปี และปรับตั้งแต่ 1-4 แสนบาท ส่วนผู้ซื้อหากนำไปใช้ในทางที่ผิดจะมีโทษจำคุก 1-5 ปี และปรับตั้งแต่ 2 หมื่นบาทถึง 1 แสนบาท              

ภก.ประพนธ์กล่าวอีกว่า อาการไม่พึงประสงค์จากการกินยาตัวนี้ ในไทยยังไม่พบ ส่วนใหญ่ยาดังกล่าวจะมีฤทธิ์นอนหลับ เพียงแต่ยาโซลพิแดม มีฤทธิ์เร็ว จึงต้องมีการควบคุมพิเศษ และสั่งจ่ายโดยเภสัชกรที่ได้รับอนุญาต กับสั่งจ่ายโดยแพทย์เท่านั้น ส่วนอาการที่มีผลต่อหัวใจยังไม่ได้รับรายงาน ซึ่งไม่ต้องกังวล เนื่องจาก อย.มีคณะอนุกรรมการในการติดตามเฝ้าระวังอาการไม่พึงประสงค์และอันตรายจากการใช้ยา คอยติดตามอยู่เสมอ              

ยาโซพิแดม องค์การอนามัยโลกแนะนำว่าควรลดปริมาณลงครึ่งหนึ่ง ซึ่งทาง อย.ได้กำหนดไว้ว่า หากจะใช้ยาตัวนี้ต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์และเภสัชกรที่ได้รับใบอนุญาต ที่สำคัญให้ลดปริมาณของยาลง โดยในผู้หญิงและผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปจะต้องลดปริมาณลงจาก 10 มิลลิกรัมเหลือเพียง 5 มิลลิกรัม โดยให้ทานเฉพาะก่อนนอนเท่านั้น และไม่ควรทานเกิน 1 สัปดาห์ รองเลขาธิการ อย.กล่าว             

 ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) กล่าวว่า การทำงานของ อย.เน้นที่การมอนิเตอร์ หรือเฝ้าระวังในต่างประเทศว่า มียากลุ่มใดที่ถูกถอนการขึ้นทะเบียนบ้าง ขณะที่การทำการติดตามข่าวสารเรื่องผลการศึกษาเรื่องสารออกฤทธิ์ในยา ยังไม่ครอบคลุมคือ แม้มีการศึกษา แต่การจะลงมือทำการศึกษาต่อ หรือลงพื้นที่เพื่อตรวจหายากลุ่มเสี่ยงจากผลวิจัยต่างประเทศยังค่อนข้างมีอุปสรรค หากไม่เป็นกรณีวิกฤตจริงๆ ก็จะพบน้อยมาก  ดังนั้น อย.ต้องมีการปรับปรุงเรื่องนี้ เหมือนกรณียานอนหลับชนิดนี้ที่มีผลศึกษาเบื้องต้นว่าอาจมีผลกระทบต่อหัวใจ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ควรมีการศึกษา และควรนำข้อมูลเพื่อเข้าสู่ที่ประชุมคณะอนุกรรมการชุดดังกล่าวพิจารณา

http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9570000013333