Tuesday, December 10, 2013

รามาฯพัฒนาเทคนิค ตรวจ"เอดส์"เร็ว100เท่า

ศูนย์จีโนมทางแพทย์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ร่วมกับศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ หรือทีเซลส์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และบริษัทโรช ไดแอกโนสติกส์ (ประเทศไทย) ประสบความสำเร็จในการพัฒนาการตรวจเชื้อไวรัสเอชไอวีกลายพันธุ์ และดื้อยาความไวสูงมากกว่าวิธีเดิมถึง 100 เท่า 



ศ.ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ ร.พ. รามาธิบดี เปิดเผยว่า ในการวิจัยและพัฒนา การเทคโนโลยีการถอดรหัสพันธุกรรมสมัยใหม่ รวมทั้งการวิเคราะห์และการแปลผลเชื้อเอชไอวีดื้อต่อยาต้านไวรัสด้วยโปรแกรม คอมพิวเตอร์ที่อ้างอิงกับฐานข้อมูลเชื้อ เอชไอวีที่ดื้อยาในประเทศไทยซึ่งรวบรวมจากผู้ติดเชื้อนับหมื่นราย มีความไวของการตรวจสูงกว่าการถอดรหัสพันธุกรรมเพื่อหาเชื้อดื้อยาแบบดั้งเดิมถึง 100 เท่า สามารถตรวจจับเชื้อไวรัสเอชไอวีกลายพันธุ์ในกระแสเลือดปริมาณเล็กน้อยได้ ช่วยให้แพทย์สามารถปรับเปลี่ยนยาต้านไวรัสซึ่งปัจจุบันมีมากกว่า 25 รายการที่ผลิตได้ภายในประเทศได้เร็วขึ้น อีกทั้งยังจะลดการเกิด Cross-resistance หรือการที่ไวรัสดื้อยาต้านตัวหนึ่งแล้วลามทำให้ดื้อยาต้านตัวอื่นในกลุ่มไปด้วย ทั้งที่ผู้ติดเชื้อยังไม่ได้ใช้ยานั้นๆ 



"ด้วยเทคโนโลยีใหม่นี้จะช่วยให้ตรวจพบไวรัสเอชไอวีกลายพันธุ์และดื้อต่อยาต้านไวรัสเร็วขึ้นกว่าวิธีเดิม ช่วยให้แพทย์มีข้อมูลปรับเปลี่ยนไปใช้ยาต้านสูตรพื้นฐานตัวอื่นทดแทนได้ทันท่วงที ทำให้ผู้ติดเชื้อไวรัสเอชไอวี ส่วนใหญ่ไม่ต้องเปลี่ยนไปใช้ยาสูตรสำรองหรือ ยาสูตรสอง ซึ่งมีราคาแพงและส่วนใหญ่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ อันช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายของภาครัฐมหาศาล" ศ.ดร.วสันต์กล่าว



ด้านหัวหน้าศูนย์จีโนมทางแพทย์กล่าวต่อว่า ผู้ติดเชื้อเอชไอวีในประเทศไทย นับว่าโชคดีกว่าประเทศอื่นเนื่องจากตั้งแต่ปีพ.ศ.2547 เป็นต้นมารัฐบาลได้ให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ติดเชื้อเอชไอวีทุกคนให้ได้รับการตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการและรักษาด้วยยาต้านไวรัสอย่างทั่วถึง และเท่าเทียมกัน โดยภาครัฐเป็นผู้รับภาระด้านค่าใช้จ่ายทั้งหมด ทำให้โรคเอดส์ในประเทศไทยกลายเป็นโรคที่รักษาได้เพียงแต่ไม่หายขาด 



ปัจจุบันในปี 2556 มีผู้ติดเชื้อเอชไอวี และผู้ป่วยเอดส์สะสมประมาณ 1,166,543 คน ยังมีชีวิตอยู่จำนวน 447,640 คนในระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างมาก และมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดจำนวนลงเหลือเพียง 8,959 คน แต่ปัญหาที่ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้คือเมื่อมีการใช้ยาต้านไวรัสก็จะเกิดเชื้อดื้อยาติดตามมา 



การตรวจเชื้อเอชไอวีดื้อยาเพื่อปรับเปลี่ยนยาจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในปัจจุบัน บางครั้งการตรวจหาเชื้อดื้อยาด้วยวิธีดั้งเดิมตรวจไม่พบตำแหน่งการกลายพันธุ์ใดๆ แต่ผู้ป่วยกลับ ดื้อต่อยาต้านไวรัสที่กำลังใช้อยู่ สังเกตได้จากการมีปริมาณไวรัสในกระแสเลือด (viral load) เพิ่มสูงขึ้น ในกรณีนี้แพทย์จะปรับเปลี่ยนยาให้ไม่ได้เพราะไม่มีข้อมูลการดื้อยา 

http://www.khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=TVRNNE5qVTJOamN5TVE9PQ==&subcatid=