Wednesday, April 21, 2010

ใส่สาย NG tube ง่ายดาย

ใส่ สาย NG Tube ง่ายดายด้วยไอเดียนักคิดแห่งหอผู้ป่วยอัษฎางค์ 10 เหนือ

“ โอ้ย ไม่เอาแล้วค่ะหมอ ทรมานเหลือเกิน อูย ” เสียงโอดครวญของผู้ป่วยที่ได้รับการใส่ Nasogastric (NG) Tube คงจะมีให้ได้ยินอยู่เกือบทุกครั้งที่มีการใส่ ซึ่งสะกิดใจให้ทีมแพทย์และพยาบาล “ นักคิดแห่งหอผู้ป่วยอัษฎางค์ 10 เหนือ ” นำประเด็นความทุกข์ทรมานจากผู้ป่วยมาช่วยกันคิดหาวิธีแก้ไขพัฒนา จากการดูแลรักษาผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด

ทีมดูแลผู้ป่วย สังเกต เห็นว่าการใส่ NG Tube ดั้งเดิมที่มีเพียงการใช้ยาชาหล่อลื่นสายเพียงอย่างเดียว ผู้ป่วยมีความเจ็บปวดค่อนข้างมาก ทำให้เกิดทัศนคติที่ไม่ดีและไม่อยากใส่ NG Tube อีกต่อไป

 คณะพยาบาลประจำหอผู้ป่วยอัษฎางค์ 10 เหนือจึงนำปัญหานี้ไปปรึกษากัน และจากการทบทวนหลักฐานที่มีอยู่ พบว่าการใส่ NG Tube นั้นมีวิธีบรรเทาความเจ็บปวดหลากหลายวิธี แต่มีความยุ่งยาก ไม่สะดวกหลายประการ จึงคิดวิธีที่สามารถปฏิบัติได้ง่าย และเกิดเป็นโครงการวิจัยร่วมกัน “ ประสิทธิภาพของการใช้ยาชาพ่นเฉพาะที่ก่อนการใส่ Nasogastric Tube เทียบกับการใช้ยาชาหล่อลื่นสายเพียงอย่างเดียว ”

การศึกษานี้ คณะผู้ศึกษาได้ออกแบบ randomized controlled, double blinded study เพื่อศึกษาประสิทธิภาพในการลดความเจ็บปวดจากการใส่ NG Tube โดยใช้ 10% lidocaine spray พ่นทั้งจมูกและคอ ร่วมกับใช้ 2% lidocaine jelly หล่อลื่นสายซึ่งเป็นวิธีที่ง่ายและสะดวก เปรียบเทียบกับการใช้ 2% lidocaine jelly หล่อลื่นสายเพียงอย่างเดียวซึ่งเป็นวิธีที่นิยมใช้ในปัจจุบัน

ทำการศึกษาในกลุ่มประชากรผู้ป่วยหอผู้ป่วยสามัญอายุรศาสตร์ สุ่มแบ่งผู้ป่วยเป็น 2 กลุ่ม ได้รับการลดความเจ็บปวดต่างกัน รวมเป็น 60 คน แล้วประเมินจากความเจ็บปวด ความยากง่ายในการใส่ NG Tube ภาวะแทรกซ้อน และความพึงพอใจของผู้ป่วยและแพทย์ในการใช้วิธีลดความเจ็บปวดแต่ละวิธี

จากผลการวิจัย พบว่า การใช้ lidocaine spray ร่วมกับ lidocaine jelly มีประสิทธิภาพดีกว่าการใช้ lidocaine jelly อย่างเดียวในการลดความเจ็บปวดจากการใส่ NG Tube ทั้งยังเพิ่มความพึงพอใจของแพทย์ โดยไม่เกิดภาวะแทรกซ้อนใดๆเพิ่มขึ้น

ประโยชน์ที่ได้รับจากงานวิจัยชิ้นนี้ มีคุณค่ามหาศาล ผู้ป่วยจะไม่ทุกข์ทรมานจากการใส่ NG Tube สามารถทำหัตถการได้สะดวกมากขึ้น และยังได้รับรางวัลชนะเลิศสาขา Clinical Research จากงานประชุมวิชาการกรมการแพทย์ประจำปี 2550 สิ่งที่ยืนยันคุณค่าที่ทีมวิจัยได้รับจากการทำงานนี้ คือคำประทับใจของ ผศ.นพ.สุพจน์ พงศ์ประสบชัย (หัวหน้าโครงการ) ได้กล่าวไว้ว่า “ ให้มองเรื่องที่ใกล้ตัว ทำงานวิจัยไม่ต้องใหญ่ ทำเล็กๆ ทำพอเพียง สไตล์ไทยๆ แบบเศรษฐกิจพอเพียง ไม่เน้นเทคโนโลยีราคาแพง แต่ฝีมือการทำเป็นระดับ International ได้ แล้วผลก็กลับมาหาคนไข้ของเรา งานวิจัยแบบ R2R เป็นงานที่ตอบสนองคนไข้ไทยมากที่สุด ”