Monday, September 13, 2010

วัคซีน HPV ป้องกันมะเร็งปากมดลูก

มีข้อสงสัยว่า วัคซีนHPV สามารถป้องกันมะเร็งมดลูกได้จริงหรือ แต่ผู้เขียนคิดว่าราคาวัคซีนแพง และบริษัทยังไม่รับรองร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าได้ผลดีสามารถป้องกันมะเร็งได้ เพราะขึ้นกับปัจจัยหลาย ๆ อย่างอีก
ลองค้นดูข้อมูลวัคซีนในเน๊ต มีรายละเอียดตามนี้

วัคซีน HPV ป้องกันมะเร็งปากมดลูก

(เรียบเรียงโดย พล.ต.รศ.นพ.ธีรศักดิ์ ธำรงธีระกุล และทีมแพทย์ศูนย์รักษาผู้มีบุตรยาก ผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช)

เป็นที่ยอมรับกันในปัจจุบันว่า สาเหตุมะเร็งปากมดลูกเกิดจากการติดเชื้อไวรัสชื่อ Human Papilloma Virus (HPV) หรือคนไทยจะรู้จักกันว่าไวรัสหูดหงอนไก่ ไวรัสกลุ่มนี้มีมากเป็นร้อยสายพันธุ์ บางสายพันธุ์ทำให้เกิดหูดหงอนไก่ที่อวัยวะเพศ (หรือผิวหนังส่วนอื่นก็ได้) 90% ของโรคหงอนไก่ที่พบ เกิดจาก HPV สายพันธุ์เลขที่ 6 และ 11 สายพันธุ์ที่ทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูกมีประมาณ 15 สายพันธุ์ และ 70% ของคนที่เป็นมะเร็งปากมดลูกเกิดจากสายพันธุ์ที่ 16 และ 18 (ที่เหลือคือสายพันธุ์ที่ 45, 31, 33, 52, 58 ตามลำดับ)

ปัจจุบันมีวัคซีนที่นำมาฉีดอยู่ 2 บริษัท คือ ชนิดที่มี 2 สายพันธุ์ (16, 18) และชนิดที่มี 4 สายพันธุ์ (6, 11, 16, 18) หมายความว่า ชนิดที่มี 2 สายพันธุ์ จะป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้ 70% และชนิดที่มี 4 สายพันธุ์ นอกจากจะป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้ 70% แล้ว ยังจะช่วยป้องกันหูดหงอนไก่ได้ด้วย 90% มีรายละเอียดพอสังเขปที่ควรทราบ ดังนี้

1. วัคซีนนี้จะป้องกันได้กับ HPV type 6, 11, 16 และ 18 คือ HPV ชนิดที่ทำให้เป็นมะเร็งปากมดลูกได้ 70% และชนิดที่ทำให้เป็นหูดหงอนไก่ได้ 90% (และอาจมีภูมิต้านทานกับสายพันธุ์ก่อมะเร็งอื่น ๆ ได้บ้าง คือสายพันธุ์ที่ 31, 33, 45, 52 และ 58 ซึ่งรวมแล้วอาจป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้ถึง 80% เป็นอย่างน้อย)

2. วัคซีนนี้ไม่ป้องกันโรคในคนที่เคยเป็นโรคแล้ว และยังมีเชื้อเกาะอยู่แบบเรื้อรัง

3. ควรฉีดวัคซีนตั้งแต่ก่อนเป็นสาวก่อนมีเพศสัมพันธ์ (ก่อนมีโอกาสได้สัมผัสเชื้อไวรัส) คือตั้งแต่อายุ 9-12 ปี เพื่อให้ได้ผลสูงสุดเพราะคนที่เคยติดเชื้อ HPV type ใดแล้ว มันจะอยู่ติดตัวไม่หาย วัคซีนก็ไม่มีผลป้องกันโรค

4. คนที่เคยเป็นโรค HPV แล้วก็ฉีดได้ เพราะวัคซีนจะป้องกัน HPV type ที่ยังไม่เคยเป็น หรือเคยเป็นแต่หายแล้ว ตามทฤษฎี ฉีดตอนอายุกลางคน คือ ถึงประมาณ 45 ปี ก็ยังมีประโยชน์ แม้จะไม่เต็มที่ประสิทธิภาพของวัคซีนก็ตาม (เพราะอาจเคยติดโรค และมีโรคเรื้อรังของบางสายพันธุ์เกาะอยู่)

5. ปัจจุบันยังไม่พบว่าเป็นอันตรายกับเด็กในครรภ์ แต่ก็ยังไม่แนะนำให้ฉีดในคนตั้งครรภ์ มารดาที่กำลังให้นมบุตรก็ฉีดได้

6. เนื่องจาก วัคซีน นี้ครอบคลุมได้ 70% (อาจถึง 80%) ของไวรัสชนิดทำให้เกิดมะเร็งในสตรี ดังนั้นถึงแม้ว่าฉีดวัคซีนแล้วก็ยังแนะนำให้ทำ pap smear ตรวจหามะเร็งปากมดลูกเหมือนเดิม คือ เริ่มตรวจ pap ภายใน 3 ปี นับตั้งแต่เริ่มมีเพศสัมพันธ์ (หรือตั้งแต่อายุ 21 ปี) ตรวจทุกปี จนถึงอายุ 30 ปี หลังจากนั้นก็ตรวจทุก 2-3 ปี ยกเว้นว่าถ้าตรวจ 3 ปีติดกัน แล้วปกติ ก็เลื่อนตรวจเป็น 2-3 ปี ต่อครั้งก็ได้

7. การฉีดวัคซีนให้ฉีด 3 เข็ม ภายใน 6 เดือน คือครั้งแรก แล้วเข็มที่ 2 อีก 1-2 เดือน เข็มที่ 3 ที่เดือนที่ 6 จะมีภูมิต้านทานอย่างน้อย นาน 5 ปี

8. ไม่แนะนำให้ตรวจหา HPV ก่อนฉีด วัคซีน เพราะการตรวจ HPV DNA ได้ผลบวกเฉพาะเชื้อที่กำลังเป็นโรคอยู่ ไม่ได้ผลบวกต่อชนิดที่เคยเป็นทั้ง ๆ ที่เชื้อยังแฝงอยู่

9. คนที่มีเซลล์ปากมดลูกผิดปกติอยู่ก็ฉีดวัคซีนได้ ใช้ป้องกันเชื้อที่ยังไม่เคยติดได้ แต่ไม่ได้ป้องกันหรือแก้ไขเซลล์ที่ผิดปกติอยู่แล้ว แนะนำให้รักษาเซลล์ที่ผิดปกติให้หายก่อนแล้วจึงฉีดวัคซีน ข้อนี้ควรปรึกษารายละเอียดกับแพทย์

เหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์โดยทั่วไปไม่รุนแรง อาการที่พบมากที่สุดคือ อาการตรงบริเวณที่ฉีดยา ได้แก่ ปวด บวม แดง ซึ่งหายไปได้เอง อาการข้างเคียงทางระบบที่พบบ่อยที่สุด ได้แก่ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย และปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อาการอื่น ๆ ที่พบได้บ่อย ได้แก่ คลื่นไส้ คัน และมีไข้ ซึ่งพบประมาณร้อยละ 15 เหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ชนิดรุนแรง พบได้ไม่แตกต่างกันทั้งกลุ่มที่เป็นวัคซีน และกลุ่มควบคุม ได้แก่ หายใจลำบาก, กระเพาะอาหารอักเสบ, ปวดศีรษะ, ความดันโลหิตสูง, เจ็บตรงตำแหน่งที่ฉีดยา และอาการปวดของแขนข้างที่ฉีดยา การเกิดโรคเรื้อรังใหม่ ไม่แตกต่างกันทั้งกลุ่มวัคซีน (ร้อยละ 3) และกลุ่มควบคุม (ร้อยละ 5)

โดยสรุป การฉีด HPV Vaccine มีความปลอดภัยสูงในการป้องกันการติดเชื้อ HPV