Wednesday, September 10, 2014

ความระแวงของแพทย์กับผู้ป่วย

ปัจจุบันนี้การให้บริการทางการแพทย์ระหว่างแพทย์และผู้ป่วยนับวันจะปฏิบัติได้ยากขึ้น 
คนเป็นแพทย์ก็ต้องระมัดระวังในการตรวจรักษา กลัวถูกฟ้องร้องจนบางครั้งก็ดูเหมือนระแวง
ผู้ป่วยเองก็เพ่งเล็งในวิธีการรักษาและผลการรักษามากขึ้น และยังได้ข้อมูลจากสื่อต่างๆ ทั้งถูกบ้างผิดบ้าง ทำให้เกิดความระแวงแพทย์เช่นกัน
โดยปกติแล้วคนเราหากขาดความไว้เนื้อเชื่อใจก็คบกันได้ลำบาก แพทย์กับผู้ป่วยก็เช่นกัน สิ่งหนึ่งที่จำเป็นคือการไว้วางใจเพราะต้องพึ่งพาอาศัยกัน แต่สิ่งที่ปรากฏอยู่บ่อยครั้งทุกวันนี้คือความรู้สึกหวาดระแวงซึ่งกันและกัน ผู้ป่วยก็กลัวว่าแพทย์จะวินิจฉัยหรือรักษาผิด คิดเงินแพงเกินไป ทำอะไรเกินเหตุ ถูกเอารัดเอาเปรียบ เป็นต้น

ส่วนผู้ป่วยที่ใช้บริการทางสุขภาพฟรี (หรือเกือบฟรี) กรณีใช้ประกันสุขภาพของรัฐ ก็จะระแวงว่า ยาไม่ดี ให้ยาน้อย ยาคุณภาพต่ำ แพทย์ไม่เต็มใจในการตรวจรักษา หรือแพทย์ไม่เก่ง เป็นต้น อย่างนี้เรียกว่า "เสียเงินก็ระแวง ไม่เสียเงินก็ระแวง"
แพทย์เองนั้นก็ทำงานลำบากขึ้น เช่น ระแวงว่าผู้ป่วยหรือญาติจ้องจับผิด ไม่พอใจก็จะฟ้องร้อง มีความคาดหวังสูง หรือเรื่องมาก เป็นต้น ความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกันเช่นนี้นับวันจะยิ่งมากขึ้นเรื่อยๆ จนทุกวันนี้คนชักไม่ค่อยอยากจะเรียนแพทย์กันแล้ว

ผลของความระแวงของแพทย์และผู้ป่วยก่อให้เกิดปัญหาตามมาหลายอย่าง ดังนี้


การปัดสวะให้พ้นตัว ประโยคนี้เปรียบเทียบเพื่อให้เห็นชัดเจน แพทย์จะไม่กล้าตรวจรักษามากขึ้น ถ้าไม่มั่นใจจริงๆ ก็จะปฏิเสธการตรวจรักษาหรือโยนให้คนอื่นรับภาระไป ทำให้สิ้นเปลืองเวลาและค่าใช้จ่าย บางครั้งก็โยนกันไปโยนกันมาจนผู้ป่วยอาการทรุดลงหรือเสียชีวิตก่อนจะถึงมือแพทย์คนที่กล้ารับผิดชอบ

กลัวจนเกินเหตุ แพทย์ก็กลัวจะวินิจฉัยผิดพลาดจึงต้องตรวจแบบเหวี่ยงแห เพื่อกันไว้ก่อน ถ้าเป็นการตรวจที่ไม่ต้องเสียเงินอย่างการซักถามอาการและตรวจร่างกายอย่างละเอียดก็จัดว่าดีมาก แต่มักไม่เป็นอย่างนั้นเพราะต้องใช้ความพยายามมาก ใช้เวลามาก และยังเหนื่อยมากอีกด้วย ส่วนใหญ่จึงมักเหวี่ยงแหด้านการตรวจทางห้องปฏิบัติการและการตรวจพิเศษต่างๆ ซึ่งแต่ละอย่างมีค่าใช้จ่ายมากบ้างน้อยบ้าง และบางอย่างก็อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้

เครียดกันไปหมด กรณีนี้เกิดทั้งแพทย์และผู้ป่วย เข้าตำรา "ตรวจน้อยก็กลัวพลาด ตรวจมากก็กลัวเปลือง"

ค่าใช้จ่ายสูงขึ้น จากการที่ต้องตรวจรักษาแบบ "กันพลาด" ทำให้ในอนาคตคนยากจนจะต้องพึ่งพาแต่บริการสาธารณสุขของรัฐ เพราะเอกชนที่เข้าร่วมโครงการจะแบกรับภาระไม่ได้ ต้องถอนตัว รัฐเองก็จะอุ้มไม่ไหวเพราะไม่เพียงแต่งบประมาณที่บานปลาย แต่จะทำให้ขาดแคลนทั้งสถานพยาบาล อุปกรณ์ทางการแพทย์ ยาและเวชภัณฑ์ต่างๆ ที่สำคัญยิ่งคือ บุคลากรทางการแพทย์ เพราะเมื่อผู้ป่วยมีจำนวนมากขึ้นจนล้นโรงพยาบาล แพทย์ต้องทำงานยากขึ้น เครียดมากขึ้น แล้วใครจะอยากมาทำงานด้านนี้

สำหรับคนชั้นกลางและคนชั้นสูงก็จะหันไปใช้บริการของโรงพยาบาลเอกชน เพราะทนสภาพโรงพยาบาลของรัฐบาลไม่ได้ แต่ก็จะพบกับปัญหาจ่ายไม่ไหว อนาคตคงต้องทำประกันสุขภาพกันมากขึ้น และเบี้ยประกันก็จะสูงขึ้น

งานเอกสารจะมากขึ้น แต่งานดูแลผู้ป่วยจะน้อยลง เพราะทำอะไรก็ต้องจดบันทึกให้ละเอียด หากเกิดปัญหาจะได้มีหลักฐานอ้างอิง

ฟ้องร้องกันมากขึ้น เมื่อระแวงก็จะจ้องจับผิดกันมากขึ้น อภัยให้กันน้อยลง ส่วนใหญ่ก็จะลงเอยด้วยการที่ผู้ป่วยฟ้องแพทย์และสถานพยาบาล ไม่ว่าจะจริงหรือไม่จริงถ้าสงสัยก็ฟ้องไว้ก่อน หากเป็นอย่างนี้ต่อไปแพทย์และสถานพยาบาลคงต้องประกันความเสี่ยง และเมื่อจ่ายค่าเบี้ยประกันเพื่อการนี้ ก็ต้องกลับมาคิดเงินจากผู้ป่วยมากขึ้น

ความระแวงสงสัย ถ้าตั้งอยู่บนหลักเหตุผลและยอมรับฟังซึ่งกันและกันก็จะไม่ก่อให้เกิดปัญหา เมื่อใดที่ผู้ป่วยหรือญาติสงสัยก็ให้ซักถามแพทย์ให้เข้าใจตรงกัน แพทย์ก็ต้องปฏิบัติตามหลักการและความถูกต้อง พยายามพูดหรืออธิบายให้มากๆ มีการปรึกษาหารือกัน ผู้ป่วยเองก็ต้องให้ความไว้วางใจในความเป็นแพทย์และจรรยาบรรณของแพทย์ แต่หากสงสัยเรื่องใดก็สอบถามได้

สิ่งที่สำคัญคือควรทำความเข้าใจซึ่งกันและกันเสียตั้งแต่ตอนนี้ ก่อนที่จะเกิดวิกฤติศรัทธาทางการแพทย์ที่รุนแรง และผลเสียก็จะตกอยู่กับทั้งสองฝ่ายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ขอบคุณข้อมูลจากมูลนิธิหมอชาวบ้าน