Wednesday, August 27, 2014

ยาตีกัน. อันตราย, การแพ้ยาและผลข้างเคียงของยา คืออะไร

ญาติคนหนึ่งของผู้เขียนอายุ 70 กว่าปี เป็นเบาหวาน ปรับเปลี่ยนทานยามาหลายอย่าง เนื่องจากอายุมากจึงมีปัญหาข้อเข่าเสื่อมและปวดมาก จึงต้องทานยาแก้ปวดกลุ่ม Nsaidsด้วย ซึ่งยาแก้ปวดกลุ่มนี้จะไปเพิ่มฤทธิ์ของยาลดน้ำตาลในเลือดบางชนิด ซึ่งอาจทำให้ร่างกายมีน้ำตาลต่ำมาก เมื่อเดือนก่อนได้ข่าวว่าเป็นลมต้องเข้าร.พ.พบว่า น้ำตาลต่ำ ตอนแรกสันนิษฐานว่า ทานยาเบาหวานเยอะเกิน อาจทานยาซำ้กัน ยังไม่ได้นึกถึงยา NSaids ว่ามีdrug interaction กับยาเบาหวาน ตอนนี้ได้ซื้อเครื่องเจาะเลือดเพื่อเช็คน้ำตาลด้วยตัวเอง จะได้ระวัง เวลาที่ค่าน้ำตาลที่วัดได้ต่ำมาก
-------------------------------------------------------------
คำถาม ยาตีกัน หรือ drug interaction คืออะไร ส่งผลต่อสุขภาพอย่างไร?ยิ่งใช้ยามากชนิด ก็จะยิ่งเพิ่มยาตีกัน
ทุกวันนี้มียาให้เลือกใช้มากกว่าในอดีตเป็นอันมาก ชนิดของยานับวันจะมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้มีทางเลือกให้แพทย์ได้สั่งจ่ายยาที่มีความเฉพาะเจาะจงและเหมาะสมกับผู้ป่วยมากขึ้น ทั้งยังครอบคลุมการรักษาโรคให้กว้างยิ่งขึ้น
ท่ามกลางการค้นพบยาใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น ในขณะเดียวกันผู้ป่วยก็มีโอกาสใช้ยาจำนวนมากขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อรัง ยิ่งถ้าผู้ป่วยเป็นหลายโรค ก็ต้องใช้ยามากชนิดขึ้นตามอาการของโรคที่เป็น ทำให้มีแนวโน้มว่าคนจะมีการใช้ยากันมากขึ้น
การที่ต้องใช้ยาหลายชนิดในคราวเดียวกัน เพื่อรักษาโรคที่เป็นปัญหาอยู่นั้น อาจจะส่งผลให้ยาที่ใช้อยู่นั้นเกิด ผลต่อกันได้ซึ่งอาจจะเป็นคุณหรือโทษต่อผู้ใช้ยาก็ได้ และเราเรียกผลของยาชนิดที่หนึ่งที่ไปส่งผลต่อยาอีกชนิดหนึ่งนี้ว่า ยาตีกัน
คำว่า ยาตีกันมาจากภาษาอังกฤษว่า drug interaction ซึ่งถ้าแปลตรงตัวจะได้ความว่า ปฏิกิริยาระหว่างยา ในที่นี้ขอเรียกให้เข้าใจตรงกันง่ายๆ ว่า ยาตีกัน

ยาตีกัน มีทั้งคุณและโทษ
เมื่อใช้ยาหลายชนิดร่วมกัน ก็อาจส่งผลกระทบต่อกัน หรือยาตีกัน ซึ่งจะส่งผลบวกหรือลบต่อสุขภาพร่างกายได้ โดยด้านบวกหรือคุณ ก็จะช่วยเพิ่มคุณประโยชน์ของยา ช่วยให้ลดขนาดของยาที่ใช้ลงได้ หรือเมื่อเกิดยาตีกันแล้วทำให้ได้ผลการรักษาดีขึ้น
ขอยกตัวอย่างเช่น การใช้ยาเพนิซิลลิน (ยาปฏิชีวนะ) ร่วมกับยาโพรเบเนซิด (ยารักษาโรคเกาต์) จะเกิด ยาตีกันขึ้น และทำให้ยาเพนิซิลลินถูกขับออกจากร่างกายได้ช้าลง เป็นผลให้ระดับยาเพนิซิลลินสูงขึ้นและอยู่ในร่างกายได้นาน เสมือนกับมีการยืดระยะเวลาการออกฤทธิ์ของยาให้นานยิ่งขึ้น ทำให้ไม่ต้องให้ยาในขนาดที่สูงๆ และ/หรือไม่ต้องให้ยาบ่อยๆ เป็นการเพิ่มความสะดวกในการใช้ยา และลดค่าใช้จ่ายของยา พร้อมกับคงประสิทธิภาพของยาได้เหมือนเดิมอีกด้วย

ยาตีกันมักจะทำให้เกิดโทษมากกว่า
แต่ในทางตรงกันข้าม ยาตีกันชนิดที่ทำให้เกิดโทษ ซึ่งเป็นปัญหาจากการใช้ยาหลายชนิดร่วมกัน เป็นปัญหาที่พบบ่อย ก่อให้เกิดความสูญเสีย และเป็นอันตรายต่อผู้ใช้เป็นอันมาก ฉบับนี้ขอยกตัวอย่างยาตีกันที่พบบ่อยและทำให้เกิดโทษหรืออันตรายต่อผู้ใช้ยา ดังนี้
๑. การใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด ร่วมกับยาอะม็อกซีซิลลิน อาจทำให้ตั้งครรภ์ได้
๒. การใช้ยาลดไขมันในเลือด กลุ่มสแตตินกับยาอีริโทรไมซิน อาจพาลให้ไตวาย
๓. การใช้ยาลดน้ำตาลในเลือด ในโรคเบาหวานกับยาแก้ปวดข้อกลุ่มเอ็นเสด ทำให้ช็อกได้

ยาเม็ดคุมกำเนิด + ยาอะม็อกซีซิลลิน
การใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดร่วมกับยาอะม็อกซีซิลลิน อาจทำให้ตั้งครรภ์ได้
ตัวอย่างที่ ๑ นี้ต้องขอยกให้กับคุณผู้หญิงที่แต่งงานหรือมีแฟนแล้วทุกคน เพราะว่าระหว่างที่คุณกินยาเม็ดคุมกำเนิดเป็นประจำทุกวันนั้น ก็ด้วยความหวังที่จะใช้ชีวิตครอบครัวตามปกติ และยังไม่ประสงค์ที่จะมีบุตร จึงต้องกินยาเม็ดคุมกำเนิดติดต่อกันทุกวันเป็นประจำต่อเนื่องเป็นแรมเดือนแรมปี แต่ถ้าระหว่างนั้นมีเหตุจำเป็นที่จะต้องใช้ยาอะม็อกซีซิลลิน (amoxicillin) ซึ่งเป็นยารักษาอาการติดเชื้อ เช่น เจ็บคอร่วมด้วย เมื่อยาทั้ง ๒ ชนิดมาเจอกัน ก็จะเกิดการตีกันของยาได้
โดยยาอะม็อกซีซิลลินจะไปมีผลต่อเชื้อจุลชีพที่อยู่ในทางเดินอาหาร ส่งผลรบกวนการดูดซึมของยาเม็ดคุมกำเนิดในทางเดินอาหาร ทำให้ปริมาณยาคุมกำเนิดที่ถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ลดน้อยลง เมื่อปริมาณยาคุมกำเนิดในเลือดลดน้อยลงกว่าปกติ ก็จะส่งผลทำให้ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดลดน้อยลงด้วย จนอาจทำให้ล้มเหลว ไม่ได้ผลในการคุมกำเนิด และเกิดการตั้งครรภ์ขึ้นได้
กรณีนี้ อาจสังเกตด้วยตนเองได้ว่า ขณะนี้ระดับยาคุมกำเนิดในเลือดลดต่ำลง เพราะจะมีอาการเลือดออกกะปริดกะปรอยได้
ดังนั้น คุณผู้หญิงที่กำลังอยู่ในระหว่างการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดและมีความจำเป็นต้องใช้ยาอะม็อกซีซิลลิน จึงขอแนะนำให้ใช้วิธีการคุมกำเนิดประเภทอื่นร่วมด้วย (เช่น การใช้ถุงยางอนามัย) เพื่อช่วยให้คงการคุมกำเนิดได้ระหว่างที่ใช้ยาอะม็อกซีซิลลิน โดยเริ่มตั้งแต่วันแรกที่ใช้ยาอะม็อกซีซิลลิน จนกระทั่งหยุดใช้ยาไปแล้ว ๑ สัปดาห์ ทั้งนี้เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจจะตั้งครรภ์ได้

ยาลดไขมันในเลือด + ยาอีริโทรไมซิน
การใช้ยาลดไขมันในเลือดกลุ่มสแตตินกับยาอีรีโทรไมซินอาจพาลให้ไตวายได้
ตัวอย่างที่ ๑ แค่คุมกำเนิดไม่ได้ผล ทำให้เกิดการตั้งครรภ์โดยไม่คาดฝัน และต้องเลี้ยงดูบุตรไปจนโต แต่ตัวอย่างที่ ๒ ของยาตีกันนี้ ทำให้เกิดโรคไตวายได้ เรียกว่าเกิดอันตรายกับตัวผู้ใช้ยา และรุนแรงถึงแก่ชีวิตได้ เพราะโรคไตวายนี้มีอาจารย์แพทย์บางท่านจะผวนคำว่า ตายไวและนิยมพูดกันเล่นๆ ว่า ไตวาย ทำให้ตายไว
ยาตีกันดังตัวอย่างที่ ๒ นี้ก็เป็นยาที่ได้รับความนิยมมากอีกชนิดหนึ่ง คือ ยาลดไขมันในเลือดกลุ่มสแตติน (statins) ซึ่งเป็นยาที่ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด เพื่อช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจ
ตัวอย่างยากลุ่มนี้ เช่น ซิมวาสแตติน (simvastatin) อะโทรวาสแตติน (atrovastatin) โลวาสแตติน (lovastatin) เป็นต้น
จะสังเกตได้ว่า ชื่อยากลุ่มนี้จะลงท้ายว่า สแตตินทุกตัว จึงเรียกกันติดปากว่า กลุ่มสแตติน
ยากลุ่มสแตตินนี้นิยมจ่ายให้กับผู้ป่วยที่มีไขมันในเลือดสูง และจะต้องใช้ยาติดต่อกันอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอเป็นประจำ เพื่อควบคุมลดปริมาณคอเลสเตอรอลให้อยู่ในระดับที่เป็นปกติ ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ ทำให้ยอดจำหน่ายยากลุ่มนี้ติดอันดับหนึ่งสูงกว่ายากลุ่มอื่นๆ ติดต่อกันหลายปีทีเดียว
แต่เมื่อไหร่ที่มีการใช้ยาอีรีโทรไมซิน (erythromycin) ร่วมกับยากลุ่มสแตติน ยาอีริโทรไมซินซึ่งเป็นยาปฏิชีวนะอีกชนิดหนึ่งที่นิยมใช้ในผู้ที่แพ้ยาเพนิซิลลิน เมื่อยากลุ่มสแตตินมาพบกับยาอีริโทรไมซิน ก็จะทำให้เกิดปฏิกิริยาระหว่างกัน หรือเกิดยาตีกัน
กรณีนี้ ยาอีริโทรไมซินจะไปยับยั้งการทำลายยากลุ่มสแตติน ทำให้ปริมาณยาสแตตินไม่ถูกทำลายตามปกติ และคงอยู่ในร่างกายนานพร้อมทั้งมีปริมาณมากขึ้น และมีการสะสมตัวยากลุ่มสแตตินในเลือดมากขึ้น จนทำให้เกิดพิษ โดยมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง ปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อลีบ และเป็นพิษต่อไตได้
ดังนั้น ตัวอย่างที่ ๒ นี้เป็นตัวอย่างของยาตีกันที่เป็นอันตรายถึงชีวิต จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาทั้ง ๒ ชนิดนี้ร่วมกัน ซึ่งแก้ปัญหานี้ได้ด้วยการเปลี่ยนจากยาอีริโทรไมซินไปใช้ยาชนิดอื่นแทน หรืออาจจะเปลี่ยนไปใช้ยากลุ่มสแตตินอื่นที่ไม่เกิดผลต่อยาอีริโทรไมซิน เช่น ฟลูวาสแตติน (fluvastatin) พราวาสแตติน (pravastatin) เป็นต้น
นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่ใช้ยากลุ่มสแตตินอยู่ก็จะต้องคอยสังเกตอาการผิดปกติของตนเองด้วย โดยเฉพาะอาการผิดปกติของกล้ามเนื้อ เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เป็นต้น

ยาลดน้ำตาลในเลือด + ยาแก้ปวดข้อกลุ่มเอ็นเสด
การใช้ยาลดน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยโรคเบาหวาน กับยาแก้ปวดข้อกลุ่มเอ็นเสด ทำให้ช็อกได้
ตัวอย่างที่ ๓ เป็นกรณีของผู้ป่วยเบาหวานที่ใช้ยาลดน้ำตาลในเลือดกลุ่มซัลโฟนิลยูเรีย (sulfonylureas) เช่น ไกลเบนคลาไมด์ (glibencalmide) คลอโพรพาไมด์ (chlorpropamide) เป็นต้น
ยากลุ่มนี้มีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยโรคเบาหวาน ซึ่งก็ทำนองเดียวกันกับ ๒ ตัวอย่างแรกที่จะต้องใช้ยานี้อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ เพื่อที่จะได้ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ให้สูงเกินไป เพราะถ้าระดับน้ำตาลในเลือดสูงอยู่เป็นระยะเวลานานๆ จะไปทำลายระบบไหลเวียนโลหิต ทำให้เกิดอาการชาปลายมือปลายเท้า ตาฝ้าฟาง และเป็นโรคไตได้
ถ้าผู้ป่วยได้รับยาแก้ปวดแก้อักเสบข้อและกล้ามเนื้อกลุ่มที่เรียกว่า เอ็นเสด (NSAIDs) เช่น ไดโคลฟีแนก (diclofenac) ไพร็อกซิแคม (piroxicam) ยากลุ่มเอ็นเสดเมื่อเจอกับยากลุ่มซัลโฟนิลยูเรีย ก็จะเกิดการตีกันของยา โดยยาเอ็นเสดจะส่งผลให้ปริมาณยากลุ่มซัลโฟนิลยูเรียในเลือดเพิ่มสูงมากขึ้น ทำให้ฤทธิ์การลดน้ำตาลในเลือดเพิ่มมากขึ้นตาม จนอาจไม่มีน้ำตาลเหลืออยู่ในเลือดเลย ผู้ป่วยก็อาจจะมีอาการอ่อนแรง เป็นลม หมดสติ และช็อกได้
กรณีนี้ก็เช่นเดียวกับต้วอย่างที่ ๒ ที่จะต้องระวังตัวไม่ควรใช้ยากลุ่มเอ็นเสดร่วมกับยากลุ่มซัลโฟนิลยูเรีย เพื่อไม่ให้เกิดการตีกันของยา และทางที่ดีควรติดตามวัดระดับน้ำตาลในเลือด หรือลดขนาดของยากลุ่มซัลโฟนิลยูเรียลงให้เหมาะสมระหว่างที่มีการใช้ยากลุ่มเอ็นเสดร่วมด้วย

สมุดบันทึกยา : วิธีง่ายๆ ที่ช่วยป้องกันยาตีกัน
จากทั้ง ๓ ตัวอย่างของ ๓ คู่ของยาตีกัน ที่อาจส่งผลต่อการรักษา และ/หรือทำให้เกิดพิษ เกิดอันตรายจากการใช้ยาได้ ในที่นี้ขอแนะนำวิธีง่ายๆ ในการช่วยป้องกันยาตีกัน ก็คือสมุดบันทึกยา
สมุดบันทึกยาหรือบันทึกรายการยา ใช้บันทึกรายชื่อยาทั้งหมด ทั้งที่ใช้ประจำ และนานๆ ใช้ครั้งหนึ่ง รวมถึงผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร วิตามิน เกลือแร่ และสมุนไพรด้วย โดยนำรายชื่อยาและสารอื่นๆ เหล่านี้ไปปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกร ว่าจะมีโอกาสเกิดยาตีกันหรือไม่ จะได้เฝ้าระวัง ป้องกัน และหลีกเลี่ยงตามลักษณะเฉพาะของยาแต่ละคู่แต่ละประเภท
กรณีที่จะไปพบแพทย์หรือเภสัชกร เพื่อรักษาโรค ก็ขอเสนอให้พกสมุดบันทึกยา (หรือบันทึกรายการยา) ไปด้วยเสมอ และควรแสดงให้กับแพทย์ที่ตรวจรักษาได้รับรู้ และ/หรือแสดงให้เภสัชกรที่จ่ายยาได้ทราบ เพื่อจะจ่ายยาให้เหมาะสมไม่เกิดการตีกัน

คำว่า ยาตีกัน” มาจากภาษาอังกฤษว่า drug interaction แปลตรงตัวคือ ปฏิกิริยาระหว่างยา
ยาอะม็อกซีซิลลินรบกวนการดูดซึมของยาเม็ดคุมกำเนิดในทางเดินอาหาร ทำให้ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดลดน้อยลง
ยาอีรีโทรไมซินยับยั้งการทำลายยากลุ่มสแตติน ในเลือดมีการสะสมตัวยากลุ่มสแตตินมากขึ้นทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง ปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อลีบ และเป็นพิษต่อไตได้
ถ้าได้รับยาแก้ปวดแก้อักเสบข้อกลุ่มเอ็นเสด เมื่อเจอกับยากลุ่มซัลโฟนิลยูเรีย ก็จะเกิดการตีกัน ผู้ป่วยก็อาจจะอ่อนแรง เป็นลม หมดสติ และเกิดช็อกได้

การแพ้ยา
การแพ้ยาเกิดจากกระบวนการในระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายอย่างเฉียบพลันหลังจากได้รับยา เป็นการเกิดเฉพาะรายเฉพาะบุคคล จึงมีโอกาสในการเกิดและระดับความรุนแรงของอาการแตกต่างกันไป และไม่สามารถทราบได้ล่วงหน้า อาการแพ้ยาที่รุนแรงและอาจถึงแก่ชีวิตมีลักษณะดังต่อไปนี้
๑. เกิดขึ้นภายใน ๑ ชั่วโมงหลังจากใช้ยา โดยมีโอกาสเกิดขึ้นได้แม้ว่าจะเคยมีประวัติใช้ยานี้มาก่อน
๒. ประกอบด้วยอาการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้
ผื่นลมพิษ เปลือกตาบวม หน้าบวม หายใจมีเสียงผิดปกติ (เสียงหวีดหวิว) หายใจลำบาก หน้ามืดเป็นลม ความดันโลหิตต่ำ มีผื่นหรือผิวหนังลอกบริเวณปาก รอบทวารหนัก หรือรอบอวัยวะเพศ
อาการแพ้ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นอาการแพ้ที่รุนแรง จัดเป็นภาวะฉุกเฉินที่ผู้ป่วยต้องไปรับการตรวจรักษาจากแพทย์ทันที ไม่ควรกินยาต่อเพราะจะทำให้อาการแพ้รุนแรงขึ้น และอาจทำให้เสียชีวิตได้ หลังจากประเมินอาการแพ้แล้ว จะต้องบันทึก ประวัติการแพ้ยาและแพทย์จะพิจารณาเปลี่ยนใช้ยากลุ่มอื่นทดแทน เพื่อควบคุมอาการของโรค หากหยุดยาเองโดยไม่ไปพบแพทย์ และไม่ได้รับยาทดแทน โรคที่เป็นอยู่อาจกำเริบจนเป็นอันตรายได้
ผลข้างเคียงจากยา
โดยทั่วไปมักไม่จัดผลข้างเคียงจากยาเป็นภาวะฉุกเฉินที่ผู้ป่วยต้องรีบไปรับการรักษาจากแพทย์ แต่หากปล่อยทิ้งไว้ ก็อาจเกิดอันตรายต่อผู้ป่วยได้เช่นกัน เช่น ยาที่มีฤทธิ์กัดกระเพาะ อาจทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร เสียเลือดจากแผล เกิดภาวะเลือดจาง และอาจทำให้เกิดภาวะหัวใจทำงานมากเกินไปจนเกิดภาวะหัวใจวายได้
อย่างไรก็ตาม ผลข้างเคียงอื่นๆ จากยา อาจไม่ส่งผลให้เกิดอันตรายร้ายแรงแก่ผู้ป่วย เพียงแต่ก่อให้เกิดความรำคาญ หรือเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ เมื่อหยุดยา อาการผิดปกตินั้นจะหายไปเองได้ หรือในยาบางชนิด ผลข้างเคียงอาจหายไปแล้วแม้ว่าจะไม่หยุดยาก็ตาม
เช่น ยาลดน้ำมูก คลอร์เฟนิรามีน อาจทำให้ง่วงซึม แต่เมื่อกินยาติดต่อกันไประยะหนึ่ง อาการง่วงซึมจะลดลงหรือหายไป หรือเมื่อหยุดยาอาการง่วงซึมก็จะหายไปเช่นกัน
อาการง่วงซึมนี้ไม่เป็นอันตราย ยกเว้นกรณีที่กินยาแล้วไปขับรถหรือทำงานกับเครื่องจักรกล ก็อาจทำให้การตัดสินใจขับรถหรือทำงานกับเครื่องจักรกลผิดพลาดได้
อาการข้างเคียงบางอย่างอาจเป็นมากจนรู้สึกทนไม่ได้ ทำให้ผู้ป่วยหยุดยาเอง เช่น มีอาการคลื่นไส้อาเจียนมาก ไอรุนแรง ขาบวม เป็นต้น อาการเหล่านี้หากเกิดขึ้นควรบอกแพทย์เพื่อพิจารณาเปลี่ยนยา อย่าหยุดยาเองเพราะจะทำให้อาการของโรคกำเริบได้
ข้อแนะนำการใช้ยา
๑. ก่อนใช้ยา ควรอ่านฉลากยาอย่างละเอียด และไม่ควรกินยาของคนอื่น การไม่อ่านฉลากยา และใช้ยาผิด อาจทำให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
๒. การกินยาหลังอาหาร หมายถึง กินยาหลังอาหารทันที ไม่จำเป็นต้องรอเวลา (๓๐ นาทีถึง ๑ ชั่วโมง)
๓. ยาส่วนใหญ่จะระบุให้กินหลังอาหารเพื่อให้จำง่าย ซึ่งผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่มีภารกิจเร่งรีบจนไม่มีเวลากินอาหารตามมื้อควรกินยาในเวลาเดียวกันเป็นประจำ โดยไม่ต้องคำนึงถึงการกินอาหาร เพื่อผลในการควบคุมโรค เช่น ยารักษาโรคความดันโลหิตสูง ยาขับปัสสาวะ ที่ต้องกินตรงเวลาทุกเช้า
๔. ยาบางชนิดจำเป็นต้องกินหลังอาหารทันทีหรือพร้อมอาหาร เนื่องจากมีฤทธิ์กัดกระเพาะ ดังนั้น หากถึงเวลากินยาก็จำเป็นต้องกินอาหารรองท้องไว้ เพื่อป้องกันอันตรายที่เกิดจากยากัดกระเพาะจนอาจเป็นแผลเลือดออก ไม่ควรแก้ปัญหาด้วยการงดยา เพราะจะทำให้ควบคุมอาการของโรคไม่ได้
๕. ยาที่ต้องกินก่อนอาหาร หมายถึง กินก่อนมื้ออาหารครึ่งชั่วโมงขึ้นไป (๓๐ นาทีถึง ๑ ชั่วโมง) เนื่องจากอาหารจะลดการดูดซึมของยา หรือเพื่อให้ยาออกฤทธิ์บรรเทาอาการได้ในเวลากินอาหาร เช่น ยาแก้คลื่นไส้อาเจียน หากลืมกินยา และกินอาหารไปแล้ว ให้กินยาหลังอาหารมื้อนั้น ๑ ชั่วโมงขึ้นไป เพื่อให้ท้องว่าง แต่ต้องระวังว่าเวลาที่กินอาหารจะไม่ใกล้กับยาในมื้อถัดไป
๖. ผู้ป่วยโรคเบาหวานจะต้องกินยาก่อนอาหารเป็นนาทีถึงครึ่งชั่วโมง แล้วแต่ชนิดของยา เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดจากการกินอาหาร จึงจำเป็นต้องกินอาหารหลังกินยาทุกครั้ง มิฉะนั้นจะเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำเกินไป ทำให้หน้ามืด วิงเวียน เป็นลม และในทางกลับกัน หากงดยาเองเพราะไม่อยากกินอาหารก็อาจทำให้ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น
๗. การกินยามีความสำคัญ ผู้ป่วยที่ไม่มั่นใจในการกินยาควรปรึกษาเภสัชกรที่ห้องจ่ายยาโรงพยาบาลหรือร้านยาทุกครั้ง เพื่อให้ใช้ยาได้อย่างปลอดภัย เภสัชกรสามารถจัดตารางการกินยาให้เหมาะสมและสอดคล้องกับการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้ป่วย หรือแม้แต่ประสานกับแพทย์ เพื่อปรับเปลี่ยนยาที่ต้องกินวันละหลายๆ ครั้ง ซึ่งไม่สะดวก มาเป็นเพียงวันละ ๑-๒ ครั้ง ไม่ควรลดหรือเพิ่มขนาดยาเอง
๘. การไปพบแพทย์หลายๆ โรงพยาบาล (หรือคลินิก) อาจทำให้ได้รับยาชนิดเดียวกัน ผู้ป่วยต้องกินยาซ้ำซ้อน หรือเกิด การตีกันของยา ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงรุนแรงแก่ผู้ป่วยได้ การไปพบแพทย์หรือเภสัชกรจึงควรมีรายการยาหรือนำยาที่กำลังใช้อยู่ทุกชนิดไปด้วยทุกครั้ง เพื่อให้เภสัชกรพิจารณาว่ามียาซ้ำซ้อนกันหรือไม่ หรือยาตีกันหรือไม่ จะได้หาทางแก้ไขและป้องกัน เพื่อให้ผู้ป่วยปลอดภัยจากการใช้ยา
๙. ผู้ป่วยที่มีภาวะตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร ควรแจ้งเภสัชกรทุกครั้งที่รับยา เพื่อให้เภสัชกรพิจารณาความเหมาะสมของยา และผลของยาที่อาจมีต่อบุตรในครรภ์หรือบุตรที่ได้รับนมแม่
 
ข้อมูลจากhttp://www.doctor.or.th/article/detail/15347

Thursday, August 21, 2014

ประเมินความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจด้วยตนเอง

โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันเป็นสาเหตุการตายอันดับแรกๆ ของโลกและของประเทศไทย 
นอกจากนี้โรคหัวใจและหลอดเลือดยังเป็นเหตุทำให้มีความเสียหายทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก ทั้งค่ารักษาพยาบาลและการสูญเสียความสามารถในการทำงาน
โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน เป็นภาวะที่มีการ ตีบตันของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ โดยมีสาเหตุส่วน ใหญ่มาจากการแข็งตัวของหลอดเลือด (atherosclerosis) เมื่อมีการตีบตันของหลอดเลือดหัวใจถึงระดับที่สำคัญ จะทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โดยในระยะแรกๆ ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บแน่นหน้าอกในขณะที่ออกแรง เมื่อพักแล้วอาการจะดีขึ้น
อาการแน่นหน้าอกจะเป็นรุนแรงขึ้น อาจมีอาการจากการเดินเพียงไม่กี่ก้าว นอกจากนี้ภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบตันยังเป็นสาเหตุของกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน ซึ่งเป็นโรคที่อันตรายมาก ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว

ประเมินความเสี่ยงด้วยตนเอง
โรคหลอดเลือดหัวใจมีอันตรายสูงดังที่กล่าวมาแล้ว
การตระหนักถึงความเสี่ยงของแต่ละบุคคลจะเป็นสิ่งสำคัญในการวางแผนป้องกันและการรักษา เพื่อลดโอกาสเกิดปัญหาทางโรคหัวใจและหลอดเลือดที่อาจตามมาในอนาคต
ปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจ ได้แก่
ปัจจัยส่วนบุคคล ด้านอายุ เพศ
ปัจจัยพฤติกรรม เช่น การออกกำลังกาย อาหาร การสูบบุหรี่ ดื่มสุรา
ปัจจัยด้านสรีระร่างกาย เช่น ความดันเลือด ไขมัน และเบาหวาน เป็นต้น
แต่ละบุคคลจะมีปัจจัยเหล่านี้แตกต่างกันไป ความเสี่ยงของแต่ละบุคคลจะเป็นผลรวมจากทุกๆ ปัจจัย บุคคลที่มีหลายปัจจัยร่วมกันนั้น ย่อมมีความเสี่ยง รวมต่อโรคมากขึ้น ในต่างประเทศมีแนวทางการประเมินความเสี่ยงรวมต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดหลายวิธี แต่เนื่องจากวิธีการประเมินดังกล่าวมาเป็นข้อมูลที่ได้จากการศึกษาในต่างประเทศและได้พบปัญหาในการนำไปใช้ใน ประเทศอื่นๆ โดยประเมินความเสี่ยงเกินความเป็นจริงไปมาก ซึ่งอาจไม่เหมาะกับคนไทย
ดังนั้น ทางคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ได้ทำการศึกษาและติดตามประชากรซึ่งเป็นพนักงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ เป็นเวลานานกว่า ๑๗ ปี และสร้างแบบประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจสำหรับคนไทยขึ้นมา ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าแม่นยำกว่าของต่างประเทศ
ในที่นี้จะแสดงเฉพาะวิธีการประเมินอย่างง่ายโดยไม่ต้องใช้ผลเลือด โดยจะคำนวณความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจขั้นรุนแรง (ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย และการเสียชีวิตเฉียบพลัน) ในช่วงเวลา ๑๐ ปีข้างหน้า
ปัจจัยเสี่ยงในการประเมินนี้จะใช้คะแนนความเสี่ยงของ ๕ ปัจจัย (ตารางที่ ๑) คือ อายุ เพศ ประวัติการสูบบุหรี่ ประวัติโรคความดันเลือดสูงหรือวัดความดันได้ตั้งแต่ ๑๔๐/๙๐ ขึ้นไป และรอบเอวใหญ่เกินค่ากำหนด (ผู้ชายตั้งแต่ ๙๐ ซม. ขึ้นไป ผู้หญิงตั้งแต่ ๘๐ ซม. ขึ้นไป)
โดยนำคะแนนความเสี่ยงทุกอย่างมารวมกัน เช่น ผู้ชาย (๓ คะแนน) อายุ ๔๘ ปี (๒ คะแนน) ไม่สูบบุหรี่ (๐ คะแนน) มีความดันเลือดสูง (๓ คะแนน) รอบเอว ๙๕ ซม. (๔ คะแนน) จะมีคะแนนความเสี่ยงรวมเท่ากับ ๓ + ๒ + ๐ + ๓ + ๔ = ๑๒ คะแนน เป็นต้น
จากคะแนนรวมที่ได้นำไปเทียบเป็นอัตราการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบรุนแรงในระยะเวลา ๑๐ ปี (ตารางที่ ๒) ได้เท่ากับร้อยละ ๕ (ถ้ารวมโรคหลอดเลือดหัวใจไม่รุนแรงที่มีอาการเจ็บอกทั่วไปด้วยน่าจะสูงขึ้นกว่านี้อีกเป็นเท่าตัว) ซึ่งอยู่ในกลุ่มความเสี่ยงสูง ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและรีบไปปรึกษาแพทย์โดยเร็ว โดยแพทย์จะทำการประเมินโดยละเอียด รวมถึงอาจมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่จำเป็นเพื่อความถูกต้องแม่นยำขึ้น


ตารางที่ ๑.


ปัจจัยเสี่ยง
คะแนน
๑.อายุ                                     ๓๕-๓๙
                                               
๔๐-๔๔
                                               
๔๕-๔๙
                                               
๕๐-๕๔
                              -
                               

                               

                               
๒.เพศ                                     หญิง
                                               
ชาย
                               
                               
๓.บุหรี่                                    ไม่สูบ
                                               
ปัจจุบันยังสูบบุหรี่
                               
                               
๔.ความดันเลือดสูง               ไม่เป็น
                                               
เป็น
                               
                               
๕.รอบเอวใหญ่เกิน                 ไม่ใช่
                                               
ใช่
                               
                               

ตารางที่ ๒
คะแนนความเสี่ยงรวม
โอกาสเกิดโรคหลอดเลือด
หัวใจตีบรุนแรงในระยะเวลา ๑๐ ปี
(
ร้อยละ)
น้อยกว่า ๐
น้อยกว่า ๑
๑-๕
๖-๘
๑๐-๑๑
๑๒
๑๓
๑๔
๑๕
๑๐
๑๖
๑๒


หมายเหตุ
๑. ผลที่ได้จากแบบประเมินนี้สามารถนำไปใช้ในด้านระบาดวิทยาทางการแพทย์เท่านั้น ห้ามนำไปใช้อ้างอิงในการประกันชีวิต
๒. ผู้ที่มีคะแนนความเสี่ยงรวมตั้งแต่ ๖-๙ คะแนน จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงปานกลาง ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยการออกกำลังกายให้สม่ำเสมอถ้าไม่มีข้อห้าม ควบคุมอาหารหวาน มัน เค็ม งดสูบบุหรี่ทันที และควรไปปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำที่ถูกต้องต่อไป
๓. ผู้ที่มีคะแนนความเสี่ยงรวมตั้งแต่ ๑๐ คะแนนขึ้นไป จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูง ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตามข้อ ๒ และรีบไปปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำที่ถูกต้องโดยเร็ว


ขอบคุณ ข้อมูลจากหมอชาวบ้าน

Friday, August 8, 2014

ใครใช้มือพิมพ์คอมพ์มาก ๆ ระวังเส้นประสาทมือถูกบีบรัด

เส้นประสาทมือถูกบีบรัด

        ถ้าอยู่ๆ รู้สึกมีอาการปวดหรือชาปลายมือ แล้วสังเกตได้ชัดเจนว่า เป็นเฉพาะที่นิ้วโป้ง นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนางซีกที่อยู่ติดกับนิ้วกลาง ส่วนนิ้วก้อยและนิ้วนางซีกที่อยู่ติดกับนิ้วก้อยไม่มีอาการผิดปกติ ก็ให้คิดถึงโรคเส้นประสาทมือถูกบีบรัด
       
โรคนี้มีสาเหตุได้หลายอย่าง สามารถรักษาด้วยการใช้ยา และถ้าเป็นรุนแรงก็จำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัด ก็จะช่วยให้หายได้

ชื่อภาษาไทย เส้นประสาทมือถูกบีบรัด, โรคคาร์พัลทูนเนล

ชื่อภาษาอังกฤษ Carpal tunnel syndrome, CTS

สาเหตุ 
       
เส้นประสาทมือ (median nerve) ซึ่งเลี้ยงบริเวณนิ้วโป้ง นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนางซีกที่ติดกับนิ้วกลาง เมื่อลงมาที่ข้อมือ จะวิ่งผ่านช่องเล็กๆ ระหว่างกระดูกข้อมือกับแผ่นพังผืดเหนียวที่อยู่ใต้กระดูกข้อมือ (เรียกว่า ช่องใต้กระดูกข้อมือ” (carpal tunnel))
คำบรรยายภาพ
เส้นประสาทมือที่เลี้ยง ๓ นิ้วครึ่งจากนิ้วหัวแม่มือ (วิ่งผ่านช่องใต้กระดูกข้อมือ)
กระดูกข้อมือ
เอ็นและเยื่อหุ้มเอ็น
เส้นประสาทมือ
แผ่นพังผืดเหนียว
ช่องใต้กระดูกข้อมือ (คาร์พัลทูนเนล)


       
ในบางคน เส้นประสาทมือในบริเวณช่องใต้กระดูกข้อมืออาจถูกบีบรัด เนื่องจากเยื่อหุ้มเอ็นที่อยู่ในช่องใต้กระดูกข้อมือบวม หรือกระดูกข้อมือโตทำให้ช่องใต้กระดูกข้อมือแคบ หรือแผ่นพังผืดเสื่อมและหนาตัวขึ้น
       
ทั้งนี้อาจเกิดจากการบาดเจ็บที่ข้อมือ หรือการใช้ข้อมืออย่างผิดๆ ซ้ำซาก หรืออาจพบร่วมกับภาวะอื่นๆ (เช่น การตั้งครรภ์ ระยะก่อนมีประจำเดือน เบาหวาน ภาวะขาดไทรอยด์ โรคปวดข้อรูมาตอยด์ ภาวะอ้วน เป็นต้น)
       
บางรายอาจเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุชัดเจน
       
บางรายอาจพบว่ามีญาติพี่น้องเป็นโรคนี้ด้วย
       
เมื่อเส้นประสาทถูกบีบรัด ก็จะทำให้เกิดอาการปวดหรือชาบริเวณ ๓ นิ้วครึ่ง (นับจากหัวแม่โป้ง) ดังกล่าว หากการบีบรัดเกิดขึ้นชั่วคราว (เช่น การตั้งครรภ์ ระยะก่อนมีประจำเดือน) อาการก็จะเป็นอยู่ชั่วคราว และทุเลาไปได้เองเมื่อภาวะที่เป็นต้นเหตุนั้นได้หายไป แต่ถ้าการบีบรัดนั้นเกิดขึ้นอย่างถาวร ก็อาจทำให้เกิดอาการเรื้อรังจนทำลายเส้นประสาทได้

อาการ 
       
ผู้ป่วยจะมีอาการปวดแสบปวดร้อนหรือรู้สึกชาเป็นพักๆ ที่มือ (โดยเฉพาะที่นิ้วหัวแม่มือ นิ้วชี้ นิ้วกลาง และซีกหนึ่งของนิ้วนางด้านที่ติดกับนิ้วกลาง) บางครั้งอาจปวดร้าวขึ้นไปที่แขนหรือหัวไหล่ อาการปวดมักจะเป็นมากตอนกลางคืนหรือตอนเช้ามืด จนบางครั้งอาจทำให้ผู้ป่วยสะดุ้งตื่น บางรายเมื่อได้ห้อยข้อมือตรงขอบเตียงหรือสะบัดมือจะรู้สึกทุเลาได้
       
การทำงานโดยใช้ข้อมือ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในท่างอข้อมือมากๆ หรือเร็วๆ เช่น กวาดบ้าน ถูบ้าน พิมพ์ดีด) งอข้อมือเร็วๆ อาจทำให้เกิดอาการปวดหรือชาได้ ถ้าเป็นมาก อาจทำให้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วอื่นๆ ชาและอ่อนแรงได้ อาการอาจเกิดที่มือข้างเดียว หรือ ๒ ข้างก็ได้
ในรายที่เป็นระหว่างตั้งครรภ์ หลังคลอดอาการมักจะหายไปได้เอง

การแยกโรค 
     
อาการชาปลายมือ อาจเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น
โรคเหน็บชา ซึ่งเกิดจากการขาดวิตามินบี ๑ รวมไปถึงคนยากจน คนที่ใช้แรงกายหนักและกินคาร์โบไฮเดรตมาก หรือคนที่ขาดอาหาร มักจะมีอาการชาปลายมือปลายเท้าทุกนิ้ว
เบาหวาน ที่ปล่อยให้มีน้ำตาลในเลือดสูงเรื้อรัง (นาน ๑๐ ปีขึ้นไป) ทำให้เส้นประสาทเสื่อม มีอาการชาปลายมือปลายเท้าทุกนิ้ว

การวินิจฉัย 
       
แพทย์จะวินิจฉัยจากลักษณะของโรคนี้ คือ มีอาการปวดหรือชาที่บริเวณ ๓ นิ้วครึ่ง ได้แก่ นิ้วโป้ง นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนางซีกที่ติดกับนิ้วกลาง
       
การกดหรือเคาะที่ข้อมือ (ตรงด้านเดียวกับฝ่ามือ) ข้างที่มีอาการ อาจกระตุ้นให้เกิดอาการปวดหรือชาที่ปลายมือได้
       
แพทย์อาจทำการทดสอบโดยให้ผู้ป่วยวางหลังมือ ๒ ข้างชนกัน ในท่างอข้อมือให้มากที่สุด และนิ้วมือชี้ลงพื้นนาน ๖๐ วินาที ผู้ที่เป็นโรคนี้อาจมีอาการปวดหรือชาปลายนิ้วมือ ๓ นิ้วครึ่ง เรียกการทดสอบนี้ว่า อาการฟาเลน (phalen’s sign)”
ภาพการทดสอบ Phanlen’s sign
        บางครั้งแพทย์อาจทำการวินิจฉัยให้แน่ชัดโดยการตรวจคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ (Electromyography หรือ EMG)
การดูแลตนเอง
       
ถ้าพบว่ามีอาการปวดหรือชาปลายมือ หากกินวิตามินบีรวม หรือบี ๑ ประมาณ ๑-๒ สัปดาห์แล้วไม่ทุเลา หรือเป็นเบาหวาน หรือมีอาการชาเฉพาะ ๓ นิ้วครึ่ง (นับจากนิ้วโป้ง จนถึงซีกหนึ่งของนิ้วนาง) ก็ควรไปปรึกษาแพทย์
       
หากแพทย์ตรวจพบว่าเป็นเส้นประสาทมือถูกบีบรัด ก็ควรรักษากับแพทย์อย่างจริงจัง
       
ในรายที่แพทย์ให้รักษาด้วยการผ่าตัด หลังผ่าตัดก็ควรดูแลแผลผ่าตัด และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์จนกว่าจะหายดี

การรักษา 
       
แพทย์จะให้การรักษาตามความรุนแรงของโรค
ถ้าเป็นเล็กน้อย แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยพักการใช้ข้อมือ (การทำงานในท่างอข้อมือ) และใช้ความเย็น (เช่น น้ำผสมน้ำแข็ง) ประคบวันละ ๓-๔ ครั้ง อาจทุเลาได้ภายใน ๒-๓ สัปดาห์
ถ้าไม่ทุเลาหรือมีอาการมากขึ้น แพทย์อาจให้กินยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์ เช่น ไอบูโพรเฟน (ibuprofen) ครั้งละ ๔๐๐ มก. วันละ ๓-๔ ครั้ง และใส่เฝือกที่มือเฉพาะเวลาเข้านอน หรือบางรายแพทย์อาจฉีดยาสตีรอยด์เข้าที่ข้อมือข้างที่ปวด เพื่อลดอาการอักเสบและบวมของเนื้อเยื่อในช่องท้องใต้กระดูกข้อมือ
ถ้ามีภาวะอื่นร่วมด้วย เช่น เบาหวาน ภาวะพร่องไทรอยด์ โรคปวดข้อรูมาตอยด์ แพทย์ก็จะให้การรักษาโรคนี้ร่วมไปด้วย
ถ้าการรักษาด้วยวิธีต่างๆ ดังกล่าวไม่ได้ผล หรือมีอาการรุนแรง ก็จำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัด โดยการตัดแผ่นพังผืดเหนียว (ที่บีบรัดเส้นประสาท) ให้คลายแรงบีบรัดลง ก็จะช่วยให้อาการทุเลาได้

ภาวะแทรกซ้อน
       
หากปล่อยให้เส้นประสาทมือถูกบีบรัดนานๆ อาจทำให้กล้ามเนื้อมือฝ่อได้

การดำเนินโรค
       
ถ้าเกิดจากภาวะที่เกิดขึ้นชั่วคราวหรือแก้ไขได้ เช่น ระยะก่อนมีประจำเดือน การตั้งครรภ์ ภาวะขาดไทรอยด์ ความอ้วน เป็นต้น อาการก็มักจะเป็นอยู่ชั่วคราว และทุเลาได้เมื่อภาวะที่เป็นต้นเหตุได้หายไป
       
ผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อยและปานกลาง การรักษาด้วยยาก็อาจทำให้ทุเลาได้
       
ส่วนในรายที่เป็นรุนแรง การผ่าตัดก็จะทำให้อาการทุเลาภายในเวลาไม่กี่วัน
       
ในรายที่เป็นรุนแรง และไม่ได้รับการผ่าตัดแก้ไข ปล่อยไว้เป็นแรมปี ก็อาจทำให้กล้ามเนื้อมือฝ่อได้

การป้องกัน
๑. ควบคุมน้ำหนักตัว และโรคเรื้อรัง (เช่น เบาหวาน) ที่เป็น
๒. ฝึกการใช้มือให้ถูกต้อง เช่น
     •
ในการนั่งเขียนหนังสือนานๆ ควรใช้ปากกาด้ามใหญ่และหมึกไหลลื่น เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้นิ้วจับ  ปากกาแรงเกิน และกดกระดาษแรงๆ
     •
หมั่นฝึกการใช้ข้อมือ และบริหารข้อมือโดยการเหยียดขึ้นงอลง เป็นระยะๆ
     •
หลีกเลี่ยงการทำงานโดยการงอข้อมือติดต่อกันนานๆ
     •
ในการพิมพ์แป้นพิมพ์คอมพิวเตอร์ (คีย์บอร์ด) พยายามยกข้อมือให้อยู่ระดับข้อศอก หรือต่ำกว่าข้อศอกเล็กน้อย

ความชุก
       
โรคนี้พบได้ค่อนข้างบ่อย พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ๓ เท่า (เนื่องจากช่องใต้กระดูกข้อมือของผู้หญิงมีลักษณะแคบกว่า)
       
มักพบในคนอ้วน คนที่เป็นเบาหวาน โรคปวดข้อรูมาตอยด์ ขณะตั้งครรภ์หรือระยะก่อนมีประจำเดือน หรือในคนที่ใช้ข้อมืออย่างผิดๆ


http://www.doctor.or.th/article/detail/11953